ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 10 ชุมชน ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดประชุมวางแผนการศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขง ณ หอประชุมหมู่บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 35 คน
จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่ามีพันธุ์ปลา 96 ชนิด ปลากระเบนเป็น 1 ในปลาหายาก ที่เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันมากับชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น แหล่งที่อยู่ระบบนิเวศน์ สถานการณ์ของปลากระเบน และหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือทางนักวิชาการ การศึกษา eNDA จากระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขง ระบบนิเวศที่มีการจับได้ปลากระเบนของชุมชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2547-2567) พบจุดที่ชาวบ้านจับปลากระเบนถึง 23 จุด ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงการศึกษาปลากระเบนในครั้งนี้ว่า
“จากการศึกษาวิจัยชาวบ้านพบว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนนี้ทางชุมชนอยากจะศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไปหลายชนิด โดยเฉพาะครั้งนี้ปลากระเบนถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเลยก็ว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของปลา โดยใช้ปลากระเบนเป็นตัวแทนกรณีศึกษา และต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยโดยองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อให้ปลาสามารถกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางที่แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลงไป”
ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหารได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม”
นายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่กล่าวถึงปลากระเบนว่า “ปลาฝาไมกิโลกรัมละ 400 บาท ที่บ้านดอนที่ จับได้บริเวณดอนมะเต้า มันเป็น คก มีน้ำนิ่ง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ มีบางคนก็ไหลมอง หรือใส่ไซลั่นได้ จุดที่ปลากระเบนอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำจะเป็นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามพื้นน้ำ แต่ก่อนจับได้กันตลอด มา 20 ปีมานี่เริ่มหาปลาได้ยาก เพราะน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ หน้าแล้งไม่แล้ง หน้าน้ำหลากน้ำไม่เยอะ ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนทำให้หาปลายาก อยากศึกษาเรื่องปลากระเบน เพื่อจะหาแนวทางการอนุรักษ์ให้มันไม่สูญพันธุ์”
การศึกษาวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบนใช้กระบวนการศึกษาแบบงานวิจัยชาวบ้าน ที่ให้ชาวประมงมาเป็นนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลจากองค์ความรู้ท้องถิ่นของตัวเอง โดยมีทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และในการศึกษาครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่น ร่วมกับทาง รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้วิธีการศึกษาeDNA หรือการศึกษาสารพันธุกรรมจากสิ่งแวดล้อมของปลากระเบน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบที่ทางชุมชนเคยพบปลากระเบนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 23 จุด ว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆอยู่หรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจหาสารพันธุกรรมปลากระเบน
ทางด้าน รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษา eDNA ว่า “กระบวนการศึกษา eDNA มีขั้นตอนหลักๆ สามขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่งเก็บตัวอย่างจากน้ำหรือดิน ขั้นที่สองสกัด eDNA ออกมาจากตัวอย่าง ขั้นตอนที่สามวิเคราะห์ eDNA ที่พบ ว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน การศึกษาeDNA เป็นวิธีการที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ทำการศึกษาหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ลดข้อจำกัดวีการสำรวจแบบที่ต้องจับตัวสัตว์ การศึกษา eDNAจึงเหมาะกับการใช้ในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”
การศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การเรียกร้องแก้ไขปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ปลาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป
ร่วมแสดงความคิดเห็น