ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เร่งสำรวจน้ำต้นทุนในพื้นที่แก้แล้งอย่างยั่งยืน

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำทีมส่วนราชการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในข้าว และไม้ผล อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยนางณัฐธัญ กาหลง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้นายเจษฎา กาพย์ไชย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ และสารสนเทศ นางเกษร อักษรรัตน์ รักษาการแทนเกษตรอำเภอแม่ออน ให้ข้อมูลดำเนินงานในพื้นที่บ้านป่าไม้ หมู่ 6 ตำบลออนเหนือ ม.2 ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน

สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เฝ้าระวังพืชที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งที่คาดว่าได้รับผลกระทบ จากฝนทิ้งช่วงและอุณภูมิที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติได้แก่ ข้าวนาปรัง 26,991ไร่ ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ รวมแล้ว 62,806 ไร่ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ กำหนดมาตรการ 3 ระยะ 1) มาตรการการป้องกันและลดผลกระทบ 2) มาตรการการเตรียมความพร้อม/เผชิญเหตุ 3) มาตรการการฟื้นฟู ซึ่งมีการดำเนินงานสร้างการรับรู้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งแก่เกษตรกร รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลไม้ผล เช่น ตัดแต่งกิ่งเพื่อลดการคายน้ำ นำใบไม้สุมโคนต้นเพื่อป้องกันน้ำระเหย รักษาความชุ่มชื้นกับต้นไม้ การประสานข้อมูลและซักซ้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการรายงานข่าวกรณีเกิดภัยพิบัติ ประสานงานและสนับสนุนการทำงาน ของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร

ดังพื้นที่อำเภอแม่ออน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,800 ไร่ ได้แก่ ข้าวและลำไยประสบภาวะแล้ง ขาดน้ำในช่วงพัฒนาผล ทำให้ต้นลำไยเกิดใบแห้ง ต้นโทรม และลำไยที่ติดผลเริ่มแตกและร่วง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ประสาน ใช้รถบรรทุกน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โครงการชลประทานเทศบาลตำบลออนใต้ ใช้น้ำ 28,000 ลิตร เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรเบื้องต้นในข้าว และลำไย ทั้งนี้ผู้วาาราชการจังหวัดให้ส่วนราชการ สำรวจวางแผนการบริหารจัดการน้ำต้นทุนแก่เกษตรในพื้นที่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุภัยพิบัติเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง เพื่อรับแจ้งเหตุจากผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยสามารถแจ้งได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-2478-79 , 08-913-4747 ,08-1223-3644

ร่วมแสดงความคิดเห็น