ปภ. ขับเคลื่อนปฏิบัติการ “มหาดไทย เติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง”

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความท้าทายจากปัญหาสภาวะอากาศสุดขั้วที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและวิกฤตด้านน้ำ ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการใช้น้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก โดยสถานการณ์น้ำในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ประกอบกับช่วงฤดูร้อนมีการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มุ่งแก้ไขปัญหาวิฤตด้านน้ำเชิงป้องกันและลดผลกระทบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ผ่านการขับเคลื่อนโครงการมหาดไทย เติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนี้

– เชื่อมโยงการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบ โดยประสานจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจแหล่งน้ำที่มีความจำเป็นต้อง
เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บน้ำ ควบคู่กับการสำรวจแหล่งน้ำต้นทางที่มีปริมาณน้ำมากหรือเพียงพอ โดยเฉพาะ
แหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมในการใช้เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล
– ปฏิบัติการเติมน้ำคลายแล้ง โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 แห่ง สนับสนุนจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ ด้วยการนำเครื่องส่งสูบน้ำทุกประเภทของ ปภ. โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถสูบส่งน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาดต่าง ๆ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำต้นทางไปเติมน้ำในแหล่งน้ำที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้สำรวจและชี้เป้าเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ผลการปฏิบัติการเติมน้ำคลายแล้ง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เปิดปฏิบัติการ “มหาดไทย เติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง” ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน (3 พ.ค. 67) ปฏิบัติการสูบส่งน้ำในพื้นที่ 72 แห่ง รวม 32 จังหวัด เพื่อใช้ในครัวเรือน 51,278 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,909 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 4,400,891 ลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการเติมน้ำคลายแล้งครอบคลุมทุกภูมิภาค ดังนี้
• ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี
• ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สุโขทัย อุทัยธานี กาญจนบุรี และชัยนาท
• ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
• ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

“ปฏิบัติการสูบน้ำคลายแล้งของ ปภ. นอกจากจะเป็นการเติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ ให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ด้านน้ำต้นทุน ซึ่งได้เชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง วางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำเพื่อให้ประชาชน มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น