ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วนพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย

ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วนพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ความปลอดภัยของประชาชน


ช่วงฤดูฝนของปี พ.ศ. 2567 ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ โดยเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด รวมถึงฝนตกหนักถึงหนักมากหากมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย จึงได้สั่งการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยภายใต้แผนและกลไกการทำงานเชิงพื้นที่
ให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ดังนี้
เตรียมรับมืออุทกภัย
– ติดตามข้อมูลบ่งชี้การเกิดภัย ในรูปแบบของคณะทำงานติดตามสถานการณ์ โดยมีหน่วยงานด้านพยากรณ์ หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปกครอง ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดสถานการณ์ภัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยการและสั่งการเผชิญเหตุของผู้อำนวยการแต่ละระดับ
– วางแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจังหวัดเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านการจัดการภัยอย่างรอบด้าน ทั้งพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินถล่มระดับหมู่บ้าน ชุมชน ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง รายการอุปกรณ์และเครื่องจักรกลสาธารณภัย พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และแผนรองรับการอพยพประชาชน รวมถึงแบ่งมอบภารกิจพื้นที่รับผิดชอบและช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบตามโครงสร้างและระบบบัญชาการเหตุการณ์ พร้อมซักซ้อมการปฏิบัติของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย
– เสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำและเพิ่มพื้นที่รับน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน พร้อมวางแผนติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยบริเวณชุมชน เขตเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคม ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อีกทั้งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลนทำความสะอาดร่องน้ำ กำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อรองรับน้ำฝนและเปิดทางระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลำเลียงน้ำไปกักเก็บในพื้นที่น้ำน้อยเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
– ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแหล่งกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำ ฝาย และพนังกั้นน้ำให้รองรับน้ำกรณีฝนตกหนักมีน้ำไหลเข้าหรือไหลผ่านปริมาณมากได้ รวมถึงสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของแหล่งกักเก็บน้ำให้กับประชาชน
– เชื่อมโยงการแจ้งเตือนภัยเชิงพื้นที่ ด้วยกลไกการสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยได้ล่วงหน้า รวมถึงประชาชนรับทราบข้อมูลแนวโน้มการเกิดภัย แนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางติดต่อภาครัฐ

แก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นระบบ
– จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ อำนวยการ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงบูรณาการฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนจิตอาสาเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ อีกทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลปฏิบัติการเปิดทางน้ำและระบายน้ำท่วมในพื้นที่เปราะบาง
– จัดชุดปฏิบัติการดูแลผู้ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ ทั้งอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาลด้านที่อยู่อาศัย ให้จัดทีมช่างในรูปแบบการบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่เข้าซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว กรณีเส้นทางคมนาคมเสียหาย ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรและแนะนำเส้นทางเลี่ยง รวมถึงจัดเรือและรถยกสูงให้บริการประชาชน ตลอดจนเร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้สามารถสัญจรได้ตามปกติ

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนรับมืออุทกภัยอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย เพื่อให้การเผชิญเหตุและคลี่คลายสถานการณ์ภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงประชาชนได้รับการดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น