ส่องวิธีแก้ปัญหาหมอกควัน ฉบับประเทศสิงคโปร์

แม้ว่าวันนี้ สถานการณ์หมอกควันในเชียงใหม่จะดีขึ้นหลังจากที่ฝนตกหนักในช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง ปัญหาหมอกควันยังคงสร้างผลกระทบร้ายแรงในพื้นที่มาโดยตลอด แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาระยะสั้นอยู่หลายครั้ง แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้

ล่าสุด ทางสำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่นรายงานว่า ผลกระทบของหมอกควันไฟป่า นอกจากจะกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวช้าลงอีกด้วย เนื่องจากมลพิษทางอากาศ กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเชียงใหม่

วันนี้ ทาง Chiang Mai Move จึงขอนำผู้อ่านทุกท่าน ไปดูวิธีการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ว่ามีขั้นตอนและกระบวนการยังไงบ้าง ที่ช่วยแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน จนสามารถรักษาคุณภาพอากาศที่ดีได้

สิงคโปร์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญกับหมอกควันไฟป่าทุกปีเหมือนเชียงใหม่ โดยกรณีของสิงคโปร์นั้น ได้รับผลกระทบหมอกควันจากการเผาพื้นที่ทำการเกษตรในอินโดนีเซีย ประเทศใกล้เคียง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวสิงคโปร์

ทำให้ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศสิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายที่มีชื่อว่า “Transboundary Haze Pollution Act” ซึ่งกฎหมายนี้ สามารถให้อำนาจแก่ทางภาครัฐ ในการจัดการกับบริษัทเอกชนรวมถึงบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบมาถึงสิงคโปร์ โดยผู้กระทำผิด จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 3.5 ล้านบาทต่อวัน และมีเพดานค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 70 ล้านบาท รวมทั้งมีโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำความผิดอีกด้วย

ส่งผลให้ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่มีคุณภาพอากาศที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว สามารถกดดันให้ภาครัฐและเอกชนในประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซีย พยายามแก้ปัญหาการเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษมากขึ้น

นอกจากประเทศสิงคโปร์แล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกา เกษตรกรจะต้องขอใบอนุญาตในการเผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เพื่อลดการเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษ ขณะที่สหภาพยุโรป ได้มีการออกกฏเกณฑ์ ห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง ยกเว้นกรณีเพื่อสุขอนามัยของพืช นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ เพื่อลดควันพิษจากรถยนต์ รวมทั้งการออกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการทำลายป่า เพื่อกดดันให้ประเทศต้นทางแก้ไขปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศต่างมีวิธีการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่แตกต่างกันออกไป ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทางภาครัฐและภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ จะนำไปศึกษา เพื่อยุติปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

ที่มา :
https://brandinside.asia/singapore-transboundary-haze-pollution-act/
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/836142
https://www.voicetv.co.th/read/RiPAN4AES
https://www.bbc.com/thai/articles/c4n0n027q7eo

ร่วมแสดงความคิดเห็น