ชวนเสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

7 ก.ย. 65 สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (The International Astronomical Union) จัfกิจกรรม #NameExoWorlds ขึ้นอีกครั้ง เปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ซึ่งในครั้งนี้ กิจกรรมตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะระบบนี้ จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ในอนาคต

ประเทศไทย โดย NARIT ในฐานะหน่วยงานดาราศาสตร์ของไทย และหนึ่งในสมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วมเสนอชื่อ “ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นชื่อไทย” ได้แก่ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b

#GJ3470b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นับเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งในปี 2566 ที่จะถึงนี้จะครบรอบ 10 ปีที่เปิดใช้งานหอดูดาวแห่งชาติ ดวงตาแห่งเอกภพของไทย หอดูดาวขนาดใหญ่มาตรฐานโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเท่านั้น ยังเป็นห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ที่สำคัญสำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้าแก่นักวิจัยไทยและนานาชาติ

NARIT จึงจัดกิจกรรม “#ชวนเสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ” ขึ้นเพื่อสรรหา และคัดเลือกชื่อไทยที่เหมาะสม ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวเป็นชื่อไทย เพื่อเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป และยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี หอดูดาวแห่งชาติ ในวาระดังกล่าวด้วย

——————————
ประเภทการสมัครเข้าร่วม
#ประเภทโรงเรียน เป็นทีม ทีมละ 3 คน (นักเรียน 2 คน + ครูที่ปรึกษา 1 คน)
• โรงเรียนสามารถเสนอชื่อได้ไม่จำกัดจำนวนชื่อ ไม่จำกัดทีม
• นักเรียน 1 คน มีชื่อร่วมอยู่ได้เพียงทีมเดียวเท่านั้น
• ครูที่ปรึกษาสามารถกำกับดูแลได้ไม่จำกัดจำนวนทีม
#ประเภทบุคคลทั่วไป เป็นทีม ทีมละ 2 คนเท่านั้น
• อายุ 18 ปีขึ้นไป
• สามารถมีชื่อร่วมอยู่ได้เพียงทีมเดียวเท่านั้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และร่วมเสนอชื่อได้ที่ https://bit.ly/NameExoWorldsThailand2022
บัดนี้ – 7 ตุลาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น