ติงเกณฑ์ตั้ง “ผอ.ร.ร.” หวั่นเปิดช่องเรียกรับผลประโยชน์

ติงเกณฑ์ตั้ง “ผอ.ร.ร.” หวั่นเปิดช่องเรียกรับผลประโยชน์ สร้างปัญหาในสถานศึกษา

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ในปีนี้มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เกษียณเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมดำเนินการ ในแต่ละขั้นตอนรองรับ โดยสำนักงานเขตพื้นการศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งมีการสำรวจ ตรวจสอบจำนวนที่ชัดเจน “กระบวนการคืนตำแหน่งทดแทนครู บุคลากรที่เกษียณ ของสถานศึกษา มีขั้นตอนระบุไว้ว่าต้องบริหารจัดการอย่างไร รวมถึงการพิจารณาการยื่นคำร้องบรรจุครู บุคลากร ตลอดจนการเปิดสอบเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ ในตำแหน่งที่จำเป็นในสถานศึกษา

ในส่วนโรงเรียนขนาดเล็กต้องยอมรับว่า อาจไม่สามารถคืนอัตราเกษียณได้ แม้บางโรงเรียนเกษียณทั้งหมด โดยจะต้องเข้าเงื่อนไขมีเด็กมากกว่า 120 คน เป็นไปตามกรอบแนวทางที่ระเบียบการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ที่มีเป้าลดอัตราข้าราชการลง ต้องทำความเข้าใจแนวทางบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ด้วย แต่อัตราที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการกันอัตราร้อยละ 25 หรือประมาณ 5 พันกว่าตำแหน่งไว้ เพื่อให้กลุ่มครูอัตราจ้าง กลุ่มพนักงานราชการของสพฐ.มีสิทธิสอบคัดเลือก เพื่อบรรจุแต่งตั้ง โดยที่เป็นตำแหน่งหลักๆ เช่น ครูผู้ช่วยปีนี้มีหมื่นกว่าตำแหน่งที่จะสอบบรรจุแต่งตั้ง

สำหรับกรณีการเฟ้นคัดเลือกตำแหน่งผู้บริหาร ในส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการ,รองผู้อำนวยการนั้น ทาง ศธ.มีนโยบายชัดเจน ในการวางกรอบไว้ว่า จะคัดเลือกอย่างไร มีการพิจารณาหารือกันหลายระดับจนได้ข้อสรุป
ด้าน ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีการดำเนินการตำแหน่ง ผู้บริหารสถานศึกษานั้น ทราบว่ามีเอกสาร ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วน ส่งไปถึง น.ส.ตรีนุช เทีอนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นข้อเสนอที่หลายภาคส่วนในแวดวงการศึกษา เสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดอาจมีปัญหา และเอื้อต่อการทุจริต

ในขณะที่อดีตผู้บริหารสถานศึกษา ในสังกัด สพฐ. และการศึกษานอกโรงเรียน ในพื้นที่ เชียงใหม่,ลำพูน เปิดเผยกับทีมข่าวว่า หากพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัดคะแนนการประเมิน ตามองค์ประกอบการประเมินศักยภาพตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ.ประจำปี 2565 ที่ สพฐ.กำหนดนั้น พบว่ามีองค์ประกอบหลักๆคือ 1.ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการศึกษา 2.ประสบการณ์ในการบริหารสถานศึกษา 3.ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่/คุณภาพการปฏิบัติงาน 4.วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการศึกษา 5.การพัฒนา
ตนเอง และพัฒนาวิชาชีพ และ 6.การประพฤติ รวมทั้งหมด 100 คะแนน

“ในหลักเกณฑ์นี้ คะแนนเชิงวิทยาศาตร์ มีเหตุ มีผลจะอยู่ที่ 60 คะแนน เพราะพิจารณาประสบการณ์บริหาร
สถานศึกษา ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่/คุณภาพการปฏิบัติงาน ส่วนอีก 40 คะแนน เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ เป็นเกณฑ์กำหนดให้มีการเขียนผลงาน สาระการพัฒนาด้านต่างๆ เกณฑ์ดังกล่าว ถ้ามองในแง่ปกติคือ เหมือนมีการสอบภาค ก และ ข.ในส่วนแรก ส่วน ร้อยละ 40 คือ ภาค ค. ล้วนๆ ถ้ามองอย่างตรงไป ตรงมาก็น่าจะสร้างโอกาส เป็นช่องทางแสวงประโยชน์ได้ ไม่ได้หมายความว่าผู้มีอำนาจ มีส่วนพิจารณา
เป็นไม่ดี แต่หลักเกณฑ์แบบนี้ เป็นการเปิดช่องให้ จัดวางคนลงพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อม อะไรๆได้ เป็นที่รับรู้กันว่า สถานศึกษาในพื้นที่ มีพระเดชพระคุณ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง แก้ไขหลักเกณฑ์ให้เป็นธรรม หรือกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ที่ดูลำดับอาวุโส เป็นผู้บริหารสถานศึกษามาหลายปี มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของชุมชน ของผู้ปกครอง ควรจะได้รับการพิจารณาคัดเลือก เป็นลำดับต้นๆ

ประการสำคัญ การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร ไม่จำเพาะเพียงสถานศึกษา แต่หมายรวมถึงทุกหน่วยงาน ไม่ควรจัดวางคน ให้มีส่วนจุดชนวนความขัดแย้งในองค์กร ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม เปิดทางผู้มีความรู้ความสามารถ ไม่มีเส้นสาย ให้เกียรติผู้อาวุโส ซึ่งเท่าที่ทราบในพื้นที่ภาคเหนือ มีการท้วงติง หรือทราบล่วงหน้ากันว่า ใครจะไป ใครจะมา และเป็นคนของกลุ่ม ขั้วใดส่งมา ซึ่งไม่ควรมีลักษณะหรือประเด็นแบบนี้ในแวดวงครู และทุกๆ หน่วยงานรัฐฯ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น