สงกรานต์หยุดยาว แต่คนร้ายไม่หยุด

สงกรานต์หยุดยาว แต่คนร้ายไม่หยุด รีบกลับไปเตือนญาติด่วน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์และภัยที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 มี.ค.-1 เม.ย.2566) รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 4,045 เคส/619,718,786.50 บาท สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 207 เคส/308,896,024.03 บาท โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด

5 อันดับ ได้แก่
อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 1,761 เคส/29,322,434.61 บาท
อันดับ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 565 เคส/86,215,154.63 บาท
อันดับ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 412 เคส/25,532,331.28 บาท
อันดับ 4) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 354 เคส/60,282,753.69 บาท และ
อันดับ 5) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 249 เคส/16,973,048.71 บาท

ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1. “เงินหมดบัญชี แถมเป็นหนี้
บัตรเครดิต” คดีนี้แก๊ง Call Center โทรศัพท์หาเหยื่อ อ้างว่ามีชื่อค้างอยู่ในระบบเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้ชำระภาษีประจำปี และต้องเสียภาษีไม่เช่นนั้นจะต้องเสียภาษีย้อนหลัง จากนั้นคนร้ายได้ให้เหยื่อแอดไลน์ และให้กดลิงก์เข้าเว็บไซต์กรมที่ดินปลอม ต่อมาให้กดดาวน์โหลดที่ข้อความโฆษณา(Banner) ตรากรมที่ดิน เพื่อติดตั้งแอปควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ หน้าจอเหยื่อปรากฏการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์และให้รอจนครบ 100% ถ้าครบแล้วระบบจะให้สแกนใบหน้าเพื่อยืนยันข้อมูลบุคคลและอัพเดทข้อมูลในกรมที่ดิน ช่วงนี้คนร้าย ให้โอนเงินค่าธรรมเนียมไปบริจาคยังมูลนิธิเด็ก เพื่อหลอกดูรหัส แล้วล็อคหน้าจอของเหยื่อ และห้ามเหยื่อปิดเครื่อง อ้างว่าถ้าไม่เสร็จกระบวนการ จะถูกเรียกภาษีย้อนหลัง 2-3 หมื่นบาท

ช่วงนี้ คนร้ายเห็นว่าเงินในบัญชีของเหยื่อมีน้อย จึงไปทำรายการถอนเงินสดจากบัตรเครดิตมาใส่ในบัญชีธนาคาร (คนร้ายรู้รหัส PIN) เนื่องจากเหยื่อผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปของธนาคาร แล้วถอนเงินออกไปจนหมด จึงขอแจ้งเตือนว่า
1) อย่าโหลดแอปต่างๆ นอก google play store หรือ app store และสังเกตุคำเตือนจากโทรศัพท์ของเราขณะโหลดแอป
2) อย่าโหลดแอปที่ข้อความขึ้นว่า “.APK” เพราะเป็นแอปที่เป็นอันตราย 3) อย่าผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปของธนาคาร และอย่าดาวน์โหลดแอปที่ไม่ผ่านการยืนยันโดยแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ

เรื่องที่ 2 “อยากมีรายได้ แต่ได้รายจ่าย” คดีนี้คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ Shopee โฆษณารับสมัครงานในFacebook หรือโทรหาเหยื่อ เมื่อเหยื่อสอบถามรายละเอียด คนร้ายจึงให้แอดไลน์แล้วดึงเข้ากลุ่มไลน์ทำงานที่มีสมาชิกในกลุ่มจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยในกลุ่มมีหน้าม้าพูดคุยว่าทำภารกิจโปรโมทสินค้าเสร็จสิ้นและได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นจริง เหยื่อหลงเชื่อจึงทำภารกิจโปรโมทสินค้าที่มีมูลค่าหลักร้อยเป็นภารกิจแรก โดยคนร้ายส่งลิงก์ Shopee ของจริงให้เหยื่อกดสั่งสินค้าใส่ตะกร้า จากนั้นคนร้ายให้บันทึกหน้าจอส่งให้ดูพร้อมโอนเงินตามมูลค่าสินค้านั้นๆเข้าบัญชีคนร้ายคนร้ายโอนเงินคืนพร้อมให้ค่าคอมมิชชั่นกลับมาเพื่อหลอกให้เหยื่อรู้สึกว่าได้คอมมิชชั่นจากการทำงานจริง จากนั้นคนร้ายให้เหยื่อทำภารกิจต่อไปโดยค่าสินค้าและค่าคอมมิชชั่นมากขึ้น เมื่อสินค้ามีมูลค่าหลักหมื่น หรือหลักแสน คนร้ายอ้างว่าเหยื่อทำผิดพลาดต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อแก้ไข สุดท้ายจะไม่โอนเงินคืน จึงขอแจ้งเตือนว่า ถ้าอยากมีรายได้จากการทำงานออนไลน์ ต้องไม่เป็นงานที่เราต้องโอนเงินไปก่อน จึงได้ทำงาน หากมีลักษณะเช่นนี้หลอกลวงแน่นอน ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT)

เรื่องที่ 3 “อยากกู้เงินแบบง่ายๆ กลับเสียเงินแบบง่ายๆ เช่นกัน” คดีนี้คนร้ายสร้างเว็บไซต์บริษัทคันทรี่กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (CGH) ปลอม สำหรับหลอกกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเหยื่อกดเขาไปและกดเพิ่มเพื่อนไลน์คนร้ายคนที่ 1 ที่แปะมากับเว็บไซต์ปลอม คนร้ายคนที่ 1 ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัว เสร็จแล้วส่งลิงก์ไลน์ให้คุยกับคนร้ายคนที่ 2 คนร้ายคนที่ 2 ส่งสัญญาปลอมให้เหยื่อว่าได้สิทธิกู้เงิน แต่เนื่องจากเป็นลูกค้าใหม่ ต้องโอนเงินค้ำประกันก่อน เพื่อแสดงว่ามีความสามารถผ่อนชำระได้ จากนั้นก็จะหลอกต่อว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน ค่าธรรมเนียม หรือทำผิดขั้นตอนที่กำหนดต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อแก้ไข ซึ่งจะได้คืนพร้อมเงินกู้ แต่คนร้ายก็จะหลอกให้จ่ายเงินไปเรื่อยๆ และหลอกให้เปิดเผยเลขบัญชีและโอนชำระเงิน เป็นค่างวด พร้อมทั้งให้บันทึกหน้าจอการโอนเงินส่งให้และได้ตั้งเงื่อนไขเข้มงวดไว้หลายข้อ จากนั้นจะหลอกให้โอนเงินเพิ่ม อ้างว่าต้องโอนผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ โอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมผิดพลาด หลังจากนั้นจึงอ้างว่าใส่เลขบัตรประชาชนผิดเป็นเหตุให้เลขบัญชีถูกอายัด แล้วส่งลิงก์ไลน์ให้ติดต่อถอนอายัดกับคนร้ายคนที่ 3 ที่อ้างเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคนร้ายคนที่ 3 นี้มีการข่มขู่เหยื่อด้วยกฎหมายและให้เหยื่อส่งรูปบัตรประชาชนให้ สุดท้ายหลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มอีก เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกก็สูญเสียเงินไปจำนวนมากแล้ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องและผู้ใหญ่ที่บ้าน ช่วยกันเตือนให้เขาเหล่านั้นรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคนร้ายในโลกออนไลน์

ร่วมแสดงความคิดเห็น