ปภ.จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับ 3

ปภ.จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับ 3 กรณีแผ่นดินไหว ประจำปี พ.ศ. 2566 เพิ่มศักยภาพและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยครอบคลุมทุกมิติ

(2 มิ.ย. 66 – กาญจนบุรี) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับ 3 กรณีแผ่นดินไหว ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 ณ เขื่อนศรีนครินทร์ และพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานเปิดการฝึกสาธิตฯ (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตรวจเยี่ยมการฝึกฯ พร้อมด้วย นายธงชัย ไหลประสิทธิ์พร ผู้อำนวยการกองความมั่นคงด้านการเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายชาญณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ ผู้แทนกระทรวงกลาโหมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองพลทหารราบที่ 9 มณฑลทหารบกที่ 17 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและจังหวัดกาญจนบุรี และผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมชมการฝึกสาธิต สำหรับการฝึกฯ ในครั้งนี้เป็นการทดสอบกลไกการปฏิบัติของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการวางแผนแก้ไขปัญหาสถานการณ์แผ่นดินไหว พร้อมประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับ 3 กรณีแผ่นดินไหว ประจำปี พ.ศ. 2566 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ณ เขื่อนศรีนครินทร์ และพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทดสอบกลไกการปฏิบัติของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการวางแผนแก้ไขปัญหาสถานการณ์แผ่นดินไหว การประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด และซักซ้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามแนวทางระบบการบัญชาการเหตุการณ์ ระบบสื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับปฏิบัติ ตลอดจนฝึกภาคปฏิบัติบุคลากรระดับส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นให้มีศักยภาพด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากสถานการณ์แผ่นดินไหว เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังเป็นการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของภาคประชาชนในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว กิจกรรมในการฝึกฯ ประกอบด้วย การฝึกอภิปรายในรูปแบบการฝึกบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) ซึ่งเป็นการฝึกที่เน้นกลไกและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้า (บกปภ.ช. (ส่วนหน้า)) และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด (ศบก.จ.) ควบคู่ไปกับกระบวนการปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) แต่ละระดับ ตั้งแต่การยกระดับการจัดการสาธารณภัย การอำนวยการ ควบคุม กำกับ วิเคราะห์ ประเมิน และการประสานการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉิน พร้อมเชื่อมโยง Function สำคัญใน EOC แต่ละระดับ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกปฏิบัติ (Drill) ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่

  • สถานีที่ 1 การกู้ชีพกู้ภัย – ค้นหาผู้รอดชีวิตทางน้ำ เป็นการฝึกทักษะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางน้ำ ในการกู้ชีพกู้ภัย การช่วยชีวิต การช่วยเหลือทางน้ำ ทดสอบระบบการสื่อสารและประสานการปฏิบัติในการช่วยชีวิต การส่งต่อผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยและส่งต่อทางการแพทย์
  • สถานที่ 2 การกู้ชีพกู้ภัย – ค้นหาผู้รอดชีวิตทางอากาศ เป็นการฝึกทักษะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางอากาศในการขนย้ายผู้ประสบภัยทางเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (KA-32) รวมถึงทดสอบระบบการสื่อสารและประสานการปฏิบัติในการช่วยชีวิต การส่งต่อผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยและส่งต่อทางการแพทย์
  • สถานีที่ 3 การบริหารศูนย์พักพิงชั่วคราว เป็นการฝึกทักษะเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติการจัดตั้งและการบริหารจัดการภายในศูนย์พักพิงชั่วคราว

โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการฝึก ได้แก่ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ประชาชน มูลนิธิ อาสาสมัคร และผู้สังเกตการณ์การฝึกจากหน่วยงานระดับส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมการสรรพกำลังกลาโหม กรมกิจการพลเรือนทหาร กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี รวมมีจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 350 คน

“เมื่อเกิดสาธารณภัย สิ่งสำคัญ คือ การแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงให้รับทราบสถานการณ์ การสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ได้ตามขั้นตอนที่กำหนด และเมื่อเกิดสถานการณ์จริงหน่วยปฏิบัติต้องสามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อเผชิญเหตุและให้การอพยพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ สำหรับการฝึกในวันนี้เป็นการฝึกสาธิตการปฏิบัติการทางน้ำ ทางอากาศ และการบริหารศูนย์พักพิงชั่วคราว ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกู้ชีพกู้ภัย ทั้งทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการส่งต่อผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวและส่งต่อทางการแพทย์เมื่อเกิดผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสนับสนุนการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติด้านสาธารณภัย ประจำปี พ.ศ. 2566 (Crisis Management Exercise : C-MEX 23) และการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งส่วนกลาง จังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัย โดยเฉพาะกรณีเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ ตลอดจนยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีนโยบายในการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่ผู้ปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด “เตรียมให้พร้อม ฝึกซ้อมเป็นประจำ ลงมือทำได้ทันที” เพื่อเจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการจัดการสาธารณภัย สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที” นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติม

ร่วมแสดงความคิดเห็น