แบงก์ชาติชี้จุดอ่อน ที่ต้องแก้ไขด่วน หลังเศรษฐกิจภาคเหนือโตช้าลง

สถานการณ์เศรษฐกิจภาคเหนือในปัจจุบัน ยังคงเป็นที่น่ากังวลจากหลายฝ่าย เนื่องจากอัตราการขยายตัวที่เริ่มช้าลงจากในอดีต โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้ภาคเหนือสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันระหว่างภูมิภาคได้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษในช่วงสนทนากับผู้ว่าการ เรื่อง “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย” ในงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2566 “ยกระดับเศรษฐกิจเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย” ณ อาคารอเนกประสงค์ ธปท. สภน. จ.เชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้พูดถึงปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ ซึ่งในปัจจุบัน มีการขยายตัวในรอบ 10 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งน้อยกว่า 20 ปีที่แล้ว ที่มีการขยายตัวร้อยละ 4 ขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคเหนือมีการขยายตัวของชุมชนเมือง น้อยกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถมยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลโดย ธปท. พบว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคเหนือลดลงจากในอดีต เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ  โดยภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในด้านแรงงาน

ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ ภาคเหนือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรมูลค่าไม่สูง มากที่สุดในแต่ละภูมิภาค ขณะที่ภาคการผลิตกลับมีบทบาทน้อยในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงปัญหาหนี้เสีย NPL ที่สูงกว่าภาคอื่น อันเนื่องมาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐ กิจ โดยส่วนใหญ่เป็นมาจากธุรกิจโรงสี และ Micro – SME เป็นต้น

ทางด้าน คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภน. ได้รายงานถึงดัชนีความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคเหนือ จากข้อมูลล่าสุดในปีที่ผ่านมา พบว่า ในด้านรายได้และการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข ยังอยู่ต่ำกว่าระดับประเทศ ถึงแม้ว่าดัชนีหลายด้านปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด – 19 แล้วก็ตาม

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ และอาจทำให้กลายเป็นปัญหาต่อการขยายตัวทางการเงิน และการพัฒนาในระยะยาว ดังนั้น แนวทางการแก้ไขจะต้องนำมาสู่การยกระดับทางด้านประสิทธิภาพของแรงงาน การขยายบทบาททางการผลิตมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือ เพื่อเพิ่มรายได้ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับการแก้ไขแล้ว เป้าหมายความสำเร็จทางเศรษฐกิจ คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ร่วมแสดงความคิดเห็น