“เชียงใหม่ไมซ์ซิตี้” ดันเชียงใหม่สู่ท็อปอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก

ไมซ์ (MICE) หรือ อุตสาหกรรมการจัดประชุม (Meeting) เป็นการจัดประชุมของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ดังนั้นอุตสาหกรรมไมซ์ จึงหมายถึง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติและการจัดนิทรรศการ ไมซ์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ ที่ผ่านมาตามสถิติเชียงใหม่มีการจัดประชุมระดับนานาชาติที่มีการบันทึกข้อมูลมีจำนวนเพียงแค่ 9 งานเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการจัดประชุมนานาชาติมีมากกว่านั้น บางเดือนมีมาก 2-3 งาน เพราะฉะนั้นหากนับดูแล้ว การจัดประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ 200-1,000 คน น่าจะมากกว่าที่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำให้ลำดับของประเทศไทยโดยเฉพาะลำดับของจังหวัดเชียงใหม่อยู่เพียงลำดับที่ 202  เท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเผยแพร่และถ่ายทอดสด นวัตกรรม Thailand Top Convention (TTC) ภายใต้โครงการการพัฒนากลไกการจัดเก็บและรายงานข้อมูลการประชุมนานาชาติของไมซ์ซิตี้เข้าสู่ สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ICCA) โดยมี อาจารย์อนาวิน สุวรรณะประธานหน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย ส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงแรม เข้าร่วมในกิจกรรม

โดย หน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุม นานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ ได้พัฒนาระบบการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูลงานประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อคัดกรองเข้าสู่การพิจารณาของสมาคมการประชุมนานาชาติ ในการจัดอันดับจุดหมายปลายทางของการประชุมนานาชาติ หรือ ICCA Rankings ซึ่งนอกจากการรายงานผลไปยัง ICCA แล้วข้อมูล ยังจะเกิดประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักวิจัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการประชุม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม TTC ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบการ สถานที่จัดงานประชุม เช่น ศูนย์ประชุม โรงแรม รีสอร์ต สามารถกรอกข้อมูลการจัดงานประชุม นานาชาติตามหลักเกณฑ์ของการจัดอันดับ ICCA Rankings อาทิ ชื่องานประชุม พื้นที่หรือเมืองที่จัดงาน จำนวนผู้เข้าร่วมงาน สถานที่จัดงาน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปคัดกรองเข้าสู่การรวบรวมและนำส่งไปยังสมาคม ICCA เป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มอันดับของเมืองไมซ์ซิตี้และประเทศไทย

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ เร่งผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองไมซ์ซิตี้ (MICE City) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น สงขลา นครราชสีมา พิษณุโลก อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองไมซ์ที่มีศักยภาพและได้รับความนิยมในการจัดประชุมนานาชาติ ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ ขอขอบคุณหน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนสมาคมและผู้ประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการจัดประชุมนานาชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

สำหรับการดำเนินโครงการนี้ ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ จำนวน 60 ราย การจัดอบรม หัวข้อ “การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดประชุมมืออาชีพเพื่อขับเคลื่อนเชียงใหม่เมือง ประชุมนานาชาติ (Chiang Mai City of Conventions)” สำหรับนักศึกษาและบุคลากรจำนวน 100 คน โครงงาน Final Project ของนักศึกษารายวิชาไมซ์ จำนวน 6 โครงการ บทความวิชาการ ระดับชาติเรื่อง “การพัฒนารายการสิ่งสนับสนุนจากเมืองเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติสำหรับ เชียงใหม่ไมซ์ซิตี้” อีกทั้งยังได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม “กลยุทธ์การบริหารจัดการสถานที่จัดงาน ประชุมนานาชาติ”เพื่อใช้สำหรับอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการสถานที่จัดงานประชุมนานาชาติ

ทั้งนี้ หน่วยทีเอ็มยู มทร. ล้านนา ร่วมกับ ทีเส็บ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม TTC ขึ้นมา เพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย รวมถึงเพิ่มอันดับประเทศและ เมืองปลายทางการจัดประชุมนานาชาติในการจัดอันดับประจำปีของ ICCA Country and City Rankings ซึ่งการติดอันดับของไมซ์ซิตี้และประเทศไทย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดผ่านการมองเห็น ในข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของทั้ง ICCA และสื่อมวลชนทั่วโลก รวมถึงเพิ่มโอกาสทาง ธุรกิจจากความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น