คืบหน้าไฟป่า ขสป.เชียงดาว ต้องใช้อากาศยานทิ้งน้ำดับไฟ กว่า 60 เที่ยวบิน

ข่าวคืบหน้าไฟป่าลุกลามตามหน้าผาสูงชันและบนสันเขา ขสป.เชียงดาว ต้องใช้อากาศยานทิ้งน้ำดับไฟ กว่า 60 เที่ยวบิน

วันที่ 26 เมษายน 2567 นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room พื้นที่บูรณาการฯเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ได้รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ ท้องที่บ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว บ้านขุนข้อนและบ้านสหกรณ์ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 โดยวันที่ 23 เมษายน 2567 ขอรับการสนับสนุนอากาศยานบินตรวจแนวไฟป่าพร้อมทิ้งน้ำดับไฟ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 9 นาย สถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว 18 นาย อากาศยาน ทส 1112 ทิ้งน้ำดับไฟ 15 เที่ยวบิน อากาศยาน ของทบ. ลำเลียงแบบ 17 (MI-17) 1 ลำ ทิ้งน้ำดับไฟ 12 เที่ยวบิน อากาศยานปีกหมุนของ ปภ. Kamov Ka-32 ทิ้งน้ำดับไฟ 8 เที่ยวบิน สามารถดับไฟได้บางส่วนร้อยละ 60 ยังมีไฟป่าลุกลามตามหน้าผาสูงชัน และบนสันเขา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดับได้ต้องขอสนับสนุนอากาศยานช่วยในการทิ้งน้ำดับไฟต่อเนื่อง

และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ได้รับการสนับสนุนอากาศยานบินตรวจแนวไฟป่าพร้อมทิ้งน้ำดับไฟเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 4 นาย สถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว 14 นาย อากาศยานปีกหมุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ KASET-2411 1 ลำ บินตรวจแนวไฟป่า 1 เที่ยวบิน ทิ้งน้ำดับไฟป่า 6 เที่ยวบิน อากาศยาน ของทบ. ลำเลียงแบบ 17 (MI-17) 1 ลำ ทิ้งน้ำดับไฟ 10 เที่ยวบิน สามารถดับไฟได้บางส่วนร้อยละ 40 ยังมีไฟป่าลุกลามตามหน้าผาสูงชันร่องเขา และบนสันเขาสลับซับซ้อน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดับได้ต้องขอสนับสนุนอากาศยานช่วยในการทิ้งน้ำดับไฟต่อเนื่อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 รับการสนับสนุนอากาศยานบินตรวจแนวไฟป่าพร้อมทิ้งน้ำดับไฟ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 6 นาย สถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว 13 นาย อากาศยานปีกหมุน ของ ทส. หมายเลข 1112 1 ลำ บินตรวจแนวไฟป่า 1 เที่ยวบิน ทิ้งน้ำดับไฟป่า 15 เที่ยวบิน อากาศยาน ของทบ. ลำเลียงแบบ 17 (MI-17) 1 ลำ ทิ้งน้ำดับไฟ 11 เที่ยวบิน สามารถดับไฟและยับยั้งการลุกลามของไฟขึ้นหน้าผาสูงชัน บนสันเขาได้ ส่วนไฟป่าที่เหลือมีทิศทางไหม้ลงเขา ปัจจุบันแนวไฟได้ลดระดับลงมาบริเวณเชิงดอยในจุดที่เจ้าหน้าที่สามารถเดินเท้าเข้าควบคุมไฟอยู่ระหว่างตรวจแนวไฟดับไฟ

กระทั่งมีคำสั่ง “กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศปิดดอยหลวงเชียงดาว ไม่มีกำหนดจนกว่าจะแก้ไขปัญหาลักลอบเผาป่าบุกรุกล่าสัตว์จัดระเบียบโฮมสเตย์ เพื่อป้องกันความเสียหายพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่สำคัญของประเทศ”

วันที่ 26 เมษายน 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าจนถึงปัจจุบัน (1 ตค. 66 – 25 เมย. 67) พบว่ามีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งสิ้น 43,290 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีสถิติการเกิดไฟป่าสูงสุดขณะนี้อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน พบจุดความร้อนสะสมแล้ว 197 จุด

โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าบนพื้นที่ดอยนาง ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม ชุดดับไฟป่าสถานีดับไฟเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ พร้อมด้วย สมาชิกอส.อส.เชียงดาวที่ 6 ร่วมบูรณาการกับทีมงานฝ่ายปกครองท้องที่ ต.เมืองงาย ได้เข้าปฏิบัติการควบคุมไฟป่า เพื่อควบคุมไฟในพื้นที่ดอยนาง ตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยมีนายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อำเภอเชียงดาว พร้อมด้วยปลัดอำเภอ ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ บริเวณด้านหน้าดอยนาง ต.เชียงดาว และต.เมืองงาย ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างควบคุมไฟด้านล่าง และทิศทางของไฟลงมาจากเขาสู่ด้านล่างเขา และไฟที่เกิดบางจุดอยู่บนเขาสูงชัน ไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปดับได้ โดยได้มีการประสานงานเสือไฟเชียงใหม่และและสถานีควบคุมไฟป่าผ้าห่มปก หน่วยงานละหนึ่งชุด เพื่อเข้าตรวจสอบในช่วงเช้าของวันถัดไป

ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา ได้ลงนามในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 26 เมษายน 2567 ประกาศปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความสมบูรณ์และความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวโดยมิได้รับอนุญาต ยกเว้นผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกิน ที่ได้มีการสำรวจการถือครองที่ดินไว้ตามมาตรา 121 แห่งพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์ป่า ตลอดจนการจัดระเบียบที่พัก โฮมสเตย์ และการควบคุมการเข้าออกอย่างเหมาะสม เพื่อให้สภาพธรรมชาติได้ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นตัวจากความเสียหาย โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานด้านบังคับใช้กฎหมาย คณะทำงานด้านจัดที่ดินและการใช้ประโยชน์ คณะทำงานด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสม สำหรับการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอย่างความเหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องขออภัยต่อความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จากการประกาศปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวในครั้งนี้ แต่เนื่องจากเหตุผล ในการปกป้องคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรของชาติฯ จึงต้องมีการประกาศปิด เพื่อทบทวนและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑล ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ จนได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล มีสังคมป่าทั้งป่าดิบเขา ป่าสนเขาและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุ์พืชที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ในวงก่อ (ก่อสีเสียด ก่อเดือย ฯลฯ) ไม้สัก เทียนเชียงดาว เทพธาโร ซึ่งเป็นพันธุ์พืชหายาก สัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ กวางผา เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ นกกก นกแก๊ก นกพญาไฟใหญ่ เต่าปูลู เต่าเหลือง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ป่าที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ด้วยความพิเศษของพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศพืชพันธุ์ไม้ สัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งมีความหลากหลายของวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น จึงได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลเมื่อปีพ.ศ .2564

โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑล อยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่

  1. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
  2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่
  3. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จังหวัดลำปาง
  4. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง
  5. พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น