แม่เหียะมีลุ้นรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ปี 65

เทศบาลเมืองแม่เหียะ รับคณะกรรมการประเมิน มีลุ้นรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ปี 65

วันที่​ 2 ส.ค. 2565 เทศบาลเมืองแม่เหียะ รับคณะกรรมการพิจารณาประเมินรางวัลพระปกเกล้า ทองคำ ประจำปี 2565 โดยมีนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาฯ ลงพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน และโครงการโดดเด่น ด้านเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยมี นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา กำนันผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเทศบาลเมืองแม่เหียะและองค์กรเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้ารับเข้ารับการประเมิน ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองแม่เหียะ


ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยมีการพิจารณาประมิน 3 รอบ ได้แก่รอบเอกสาร รอบนักวิจัย และรอบคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดีเด่น เพื่อรับรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2565 จากสถาบันพระปกเกล้า โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ ส่งผลการดำเนินงานเข้าประเมิน ประกอบด้วย รางวัลด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน รางวัลด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ รางวัลด้านเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม และรางวัลด้านลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ใบประกาศเกียรติคุณ และโล่รางวัล


โดยก่อนหน้านี้เทศบาลเมืองแม่เหียะได้รับโล่รางวัลด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน มาแล้วถึง6 ปี คือปี 2549, 2555, 2558, 2559 และ2560 และได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดของสาขาดังกล่าว และได้รับโล่ในด้านเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ในปี 2562 เพิ่มอีก 1 ปี และในปี2564 รวมทั้งสิ้น 8 ปี และในปีดังกล่าว ได้จัดส่งเข้ารับการประเมินในด้านเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ในประเภทโล่ทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสาขาดังกล่าว
ทั้งนี้ทางด้าน นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ กล่าวว่า รางวัลพระปกเกล้า นับว่าเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรางวัลที่ไม่มีเงินรางวัล และเกณฑ์ในการประเมินค่อนข้างยาก มีคณะกรรมการลงมาประเมินหลายชุดโดยในปีนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้นำเสนอโครงการโดดเด่น คือ การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายการจัดการเมืองเชิงระบบในภาวะฉุกเฉินเพื่อรองรับผลกระทบของโควิด -19, เครือข่ายการบูรณาการร่วมกัน ในกาสรเฝ้าระวังแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า และเครือข่ายสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทั้งหมดผ่านกระบวนการคิด การสร้างเครือข่าย การประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จนเกิดเป็นรูปธรรม นำมาสู่การประเมินเพื่อรับโล่เกียรติคุณดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น