ทำบุญสมทบทุนสร้างเจดีย์ ครอบพระเกศาธาตุ

สมทบทุนสร้างเจดีย์ ครอบพระเกศาธาตุ ณ วัดพระธาตุสุนันทา ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2565 เวลา 15:00 น.

จึงขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมบุญทอดกฐินสามัคคี ตามจิตศรัทธา โดยไม่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเดือดร้อนผ่านทาง…

ธนาคาร : กรุงไทย
ชื่อบัญชี : วัดพระธาตุสุนันทา
เลขบัญชี : 375-0-61046-0

ประวัติพระธาตุสุนันทา วัดพระธาตุสุนันทา

……ในส่วน ตำนานเมืองเกศคันธนคร (เมืองแกน) พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโน คัดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๐ แปลโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ มาจากต้นฉบับเดิมเป็นอักษรธรรม ซึ่งคัดลอกมาจากหนังสือตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๒ โดย พระชัยวัฒน์ อชิโต หน้า ๑๗๔-๑๗๖ และข้าพเจ้าค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เรียบเรียงใหม่ ว่า…

“สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จมาถึง บ้านธัมมิละ พอชาวบ้านทั้งหลายรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง จึงได้ตกแต่งอารามในร่มไม้ยาง แล้วจึงนิมนต์พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั้น เพื่อได้ถวายไทยทานและอาหาร พร้อมกับทำอาสนะถวาย

เมื่อพระพุทธองค์สถิตสำราญอยู่บนอาสนะนั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดรทอดพระเนตรเห็น เขาวิบูลม่อนจอมหด (คือม่อนหินไหล) ท่านผ้าขาว คงจะทราบประวัติดี ถึงได้ขึ้นไปสร้างพระธาตุไว้บนยอดเขาแห่งนั้น

ในขณะนั้น พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถามถึงเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า ในสถานที่นี้ควรไว้ศาสนา แล้วจึงลูบพระเกศาประทานให้ ๑ เส้น ให้บรรจุไว้จะมีชื่อว่า อุโมงคอาราม ต่อไปข้างหน้าเรียกว่า ศรีคมคำแสนทอง

ต่อมาพระองค์เสด็จไปถึงเขาแห่งหนึ่งบ้านธัมมิละ ได้ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ชมพู่ต้นหนึ่งที่อยู่ริมห้วย เวลานั้น พระยาธัมมิละ, ขุนอ้ายบ่อทอง, ขุนจอมใจเด็ด(สามีแม่นางสุนันทา)กับ ขุนหาญอาจแก้ว ได้เข้าไปถวายภัตตาหารกับน้ำเมี่ยง และผลมะตูม

ในขณะนั้น พระองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ในที่นี้ควรไว้ที่ศาสนา แล้วจึงได้ประทานพระเกศา ๑ เส้น บรรจุไว้ที่นั้นให้ชื่อว่า เจรุวรรณอาราม เรียกนามตามที่มีผู้เอาน้ำเมี่ยงและมะตูมเข้าไปถวาย และทำมณฑปด้วยเด็ดไม้แลใบไม้ กาลข้างหน้าจะเรียกชื่อว่า เมืองเกศคันธนคร ส่วนที่ลำห้วยนั้น เรียกว่า “แม่หอเด็ด” ต่อไปข้างหน้าจะเรียกว่า “แม่หอพระ” “(บ้านแม่หอพระ ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง) ขณะนั้นขุนอ้ายบ่อทอง ขุนจอมใจเด็ดและขุนหาญอาจแก้ว พร้อมด้วยคนทั้งหลายจึงกราบทูลขอบรรจุพระเกศาไว้ที่นั้น พระองค์จึงทรงตรัสว่า ต่อไปข้างหน้าถ้ากูตถาคตเข้าสู่นิพพานไปล่วงแล้วได้สองพันปลาย ท้าวพระยาทั้งหลายจึงจะคิดสร้างได้ และบ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรืองไปด้วยบุญบารมีกูตถาคต ที่ได้ตรัสโปรดธัมมิละและขุนทั้งหลายที่ไปตักน้ำห้วยฝ้ายมาให้พระองค์สรง

ขณะนั้นพระองค์ทรงทอดพระเนตรไปเห็นต้นไม้ยังแลต้นหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำระมิงค์ดูพุ่มพวงสวยงาม สถานที่นั้นก็ราบเตียนดียิ่งสมควรจะได้ตั้งศาสนา พระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จไปสู่ที่ต้นไม้ยังแลหรือพระพุทธเจ้าข้า?

พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า เธอจงพาพระสงฆ์ทั้งหลายไปเถิด แล้วพระองค์จึงเอาน้ำสระเกศเกล้ากับฝ่าพระบาทแก้ว ให้พระอานนท์และภิกษุทั้งหลายนำมาไว้ริมต้นไม้ยังแลนั้น

ฝ่ายขุนจอมใจเด็ดกับภรรยาที่มีชื่อว่า สุนันทา เข้ามา กราบนมัสการพระอานนท์กับพระภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ทำอาสนะที่ประทับและเอาน้ำเย็นมาถวาย แล้วขุนจอมใจเด็ดกับผู้คนทั้งหลายช่วยกันขุดเป็นหลุมกว้าง ๕ ศอก ลึก ๕ วา

พอเสร็จแล้วก็เอา ธาตุน้ำพระเกศ กับ ฝ่าพระบาท ลงบรรจุไว้แล้วปิดด้วยหินและอิฐแล้วให้ชื่อว่า “อุปางาม” ขณะนั้น ขุนจอมใจเด็ด, ขุนอ้าย, ขุนหาญอาจแก้ว ประนมหัตถ์ขึ้นนมัสการว่า จะขอสร้างและก่อพระธาตุให้เป็นฐานขึ้น

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ต่อไปในกาลข้างหน้า ถ้ากูตถาคตปรินิพพานไปแล้วได้สองพันปลาย ท่านทั้งหลายจึงควรสร้างพระธาตุนี้ แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้ว ๓ พระองค์ ณ “ดงปาย” (สถานที่นี้น่าจะเป็นพระพุทธบาทสี่รอย)

ขุนจอมใจเด็ด, ขุนอ้าย, ขุนหาญอาจกาจแก้ว พอได้บรรจุพระธาตุไว้แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมยินดียิ่งนัก ชวนกันสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนทุกวันคืนมิได้ขาด คนเหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อหมดบุญแล้วก็ได้มาเกิดในเมืองเกศคันธนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๐๕๐ จะได้สร้างพระธาตุ บางคนก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ บางคนจะได้เป็นพ่อค้า เป็นเศรษฐี บางคนจะได้เป็นมหาอุบาสกมหาอุบาสิกา

แล้วจะได้ประชุมสงฆ์สร้างพระธาตุความเจริญรุ่งเรืองจะเกิดขึ้นในเมืองนี้ เมืองเกศคันธนครนี้ ให้ชื่อตามเหตุที่พระองค์ได้ฉันภัตตาหารกับไว้พระเกศา น้ำล้างฝ่าพระบาท และน้ำสระพระเกศเกล้าของพระองค์ ตามที่พระยาธัมมิละได้ถวายน้ำเมี่ยงกับผลมะตูม

เมืองจึงได้ชื่อว่า เมืองคั่งแค้น (ชาวเหนือเรียกว่า เมืองกั่งแก้น แล้วต่อมาก็เรียกว่า เมืองแกน) กับพระยาธัมมิละทำอาสนะและที่ประทับให้แก่พระอรหันต์ด้วยใบไม้แลเด็ดไม้นั้น ได้ชื่อว่า แม่หอพระ ส่วนกุศลเมื่อผู้ใดได้สร้าง พระธาตุจอมหด, พระธาตุม่อนจอมหิน และฝ่าพระบาทแก้ว ผู้นั้นจะได้เกิดร่วมกับพระรัตนตรัย จะได้ถึงพระอรหันต์แลนิพพานในที่สุด…”

ตามตำนานเล่าไว้เพียงเท่านี้ พอสรุปได้ว่า สถานที่พระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุบรรจุไว้มีชื่อว่า อุโมงอาราม และ จารุวรรณอาราม ส่วนน้ำที่สระพระเศียรและล้างฝ่าพระบาทของพระองค์ คงจะกลายเป็นพระธาตุ แล้วให้บรรจุไว้มีชื่อว่า อุปางาม รวม ๓ แห่งด้วยกัน

ต่อมาครั้นมาถึงสมัยเจ้าเมืองอังวะ รู้ว่าบ้านเมืองเชียงใหม่และเมืองหริภุญชัยอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวน้ำและทรัพย์สิน จึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่และเมืองหริภุญชัยไว้เป็นเมืองขึ้นของตน ส่วนพระยารามเหียรเจ้าเมืองอโยธยารู้ข่าวว่าเจ้าเมืองอังวะจะมาตีเมืองเชียงใหม่และเมืองหริภุญชัย จึงรีบนำทหารม้าเร็วมารับพระนางจามเทวีและข้าทาสบริวารลงไปยังเมืองนครสวรรค์

ส่วนแม่นางสุนันทาซึ่งเป็นภริยาขุนจอมใจเด็ดไม่ยอมตามไป ก็ได้ขึ้นมาสักการะองค์พระธาตุที่เป็นที่นับถือของตนและชาวบ้านที่จะร่วมกันสร้างก็มีเหตุให้ต้องหยุดไปก่อน เพราะมีสงครามเกิดขึ้น โดยสามีของแม่นางต้องไปตั้งด่านรบกับข้าศึก แม่นางสุนันทาก็รำพึงคร่ำครวญถึงสามีของตนที่ต้องไปรบ พอครองสติได้ก็เก็บทรัพย์สินทั้งหลายแลของมีค่า รวมทั้งแก้วแหวนเงินทองใส่กระบอกใส่ไหนำให้บริวารช่วยกันไปฝังในอุโมงค์ (ถ้ำ) ที่ใกล้กับที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

เมื่อปิดเรียบร้อยแล้ว แม่นางจึงอธิษฐานวานอินทร์ พรหม ยมราช แม่ธรณีให้ปกป้องรักษา หากได้เกิดภพใดชาติใดขอให้ได้พบพระพุทธศาสนา และได้สร้างธาตุสมดังตั้งใจพร้อมกับสามีทุกชาติไป หลังจากนั้นแม่นางก็พาข้าทาสบริวารนำก้อนหินทับถมกันให้เป็นรูปพระธาตุขึ้น แล้วสักการะแล้วก็จากที่แห่งนั้นไป

ครั้นต่อมา หลังจากเจ้าเมืองอังวะยกทัพกลับ สงครามสงบ ขุนจอมใจเด็ดก็กลับบ้านไม่พบภริยาของตน ก็ออกตามหาจนทั่วไม่เจอ คิดว่านางเสียชีวิตไปแล้ว จึงพาพวกบริวารขึ้นไปสักการบูชาองค์พระธาตุที่พวกตนนับถือ พร้อมอธิษฐานกราบไหว้ให้บ้านเมืองอยู่ดีมีสุขตลอดถึงลูกหลาน และขอให้ตนได้พบพระพุทธศาสนา ได้สร้างพระธาตุ และพบภริยาของตนทุกภพทุกชาติเทอญ

เมื่อถึง พ.ศ.๒๐๕๐ บ้านเมืองเริ่มเจริญรุ่งเรือง ข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง จึงได้ประชุมสงฆ์และชาวบ้านเพื่อที่จะสร้างองค์พระธาตุที่ก่อด้วยหินที่ทรุดโทรมไปแล้ว จึงสละเงินทองช่วยกันสร้างองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่ แล้วใส่ชื่อสืบกันมาว่าแม่หม้ายได้สร้างไว้ จึงเรียกว่า “พระธาตุแม่หม้าย” คิดว่าผู้หญิงได้มาสร้างไว้ ส่วนผู้ชายต้องไปรบอยู่หน้าเมืองคล แม่นางสุนันทาเมื่อถวายทรัพย์ไว้ใกล้พระเกศาธาตุ แล้วขอพรพระเกศาธาตุให้ภัยสงครามผ่านไป ที่สุดพพระเจ้าอังวะก็ผ่านไม่ตีเมืองคล จึงทำให้สามีตนกลับมาบ้านเมืองตามหาภรรยาของตน

ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๔ ปีฉลู แรม ๘ ค่ำ องค์พระธาตุก็ได้ทรุดโทรมอีก ท่านครูหมู มโนชัย วัดช่อแล เจ้าคณะแขวง ท่านก็ได้บูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังใช้ชื่อ “พระธาตุแม่หม้าย” เหมือนเดิมตามความเชื่อที่เรียกกันว่าแม่หม้ายเป็นผู้สร้าง

ครั้นต่อมาเมื่อวันพุธที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ปีระกา แรม ๓ ค่ำ พระธาตุก็เริ่มทรุดโทรมลงอีก พระครูนันทเจติยาภิบาล (โต กิตติโสภโณ,พระสักขี ไชยา) ได้มาบูรณะขึ้นอีกครั้ง พร้อมทั้งได้ศึกษาประวัติของพระธาตุแม่หม้ายอย่างละเอียด พบว่าผู้เริ่มสร้างไม่ใช่แม่หม้าย และเห็นว่าชื่อนี้ไม่ค่อยเหมาะสม จึงพิจารณาว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธาตุสุนันทา” และได้บูรณะพัฒนาวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้……

ร่วมแสดงความคิดเห็น