กอ.รมน. ขอความร่วมมือไม่จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และ บก.ปอศ. ลงพื้นที่ตรวจสอบย่านการค้า พร้อมขอความร่วมมือไม่จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พ.อ.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส รองโฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า ในวันนี้ (16 พ.ย. 2565) กอ.รมน.โดย พล.ท.วิภูษณะ คล้ายมณี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กอ.รมน. ได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบศูนย์การค้าย่านปทุมวัน เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ค้าไม่จำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์

ก่อนการลงพื้นที่ได้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานรัฐ เจ้าของพื้นที่ ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ เพื่อหารือถึงแนวทางป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากนั้นได้เข้าพื้นที่บริเวณแหล่งขายสินค้า อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไม่พบการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กอ.รมน. จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องปราม และแก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานในการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยมี กอ.รมน เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน ป้องปราม และแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบซึ่งมีการดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งในปี 65 ที่ผ่านมา สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยังคงจัดอันดับสถานะทางการค้าของประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในทุกมิติเพื่อให้หลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง

กอ.รมน. จึงขอความร่วมมือและแจ้งเตือนมายังผู้ประกอบการในย่านการค้าและตลาดออนไลน์ ไม่ผลิต ไม่จำหน่าย และไม่นำเข้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากผิดกฎหมายมีโทษทั้งทางอาญา และทางแพ่ง นอกจากนั้นการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่อาจไม่ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานหรือคุณภาพที่เพียงพอ

จึงขอความร่วมมือในการละเว้นการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากตรวจพบว่ายังมีการฝ่าฝืนก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อันจะสร้างความเชื่อมั่นและสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น