ปภ.แนะรับมือฝุ่น PM2.5 อย่างปลอดภัย

ปภ.แนะประชาชนรับมือและลดผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่น PM2.5…อย่างปลอดภัย


หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่มักจะเกิดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องต้นฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น แห้งแล้ง สภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ การเผาวัชพืชและตอซัง รวมถึงมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น รถยนต์ควันดำ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5
ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ดังนี้
6 วิธีลดการเกิดหมอกควันและฝุ่น PM2.5
1.ไม่เพิ่มปริมาณหมอกควัน อาทิ เผาขยะหรือวัชพืช จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ การประกอบอาหารโดยใช้เตาถ่าน
2.เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดไฟป่า โดยไม่เผาขยะ วัชพืช วัสดุทางการเกษตรตอซัง และไม่จุดไฟหาของป่าหรือล่าสัตว์ รวมถึงไม่ทิ้งก้นบุหรี่บริเวณที่มีวัสดุติดไฟง่าย
3.ใช้วิธีฝังกลบหรือไถกลบในการเตรียมพื้นที่การเกษตร หากจำเป็นจะต้องใช้วิธีเผา เพื่อเตรียมพื้นที่ ให้จัดทำ
แนวกันไฟล้อมพื้นที่ทางการเกษตร และใช้น้ำราดดับให้สนิททุกครั้ง
4 เพิ่มความชื้นในอากาศ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ฉีดพ่นละอองน้ำ ปลูกพืชคลุมหน้าดิน เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ
5.กำจัดขยะถูกวิธี โดยวิธีการฝังกลบหรือเผาในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่เผาในที่โล่งแจ้ง เพราะจะเพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ
6.ลดการใช้ยานพาหนะ โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะ ขี่รถจักรยาน หากขับรถให้เลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง
หรือใช้พลังงานทางเลือก
วิธีลดผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่น PM2.5

  • ลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองปกคลุมหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ปิดปากหรือจมูก เพื่อลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงสวมแว่นตา เพื่อป้องกันการระคายเคือง
  • ปิดช่องประตูและหน้าต่างให้มิดชิด พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำอุดช่องระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองลอยเข้ามาในบ้าน
  • เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม โดยเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซง หรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน
    ดูแลตนเองอย่างไร เมื่ออยู่ในพื้นที่มีหมอกควันและฝุ่น PM2.5
  • ไม่ออกกำลังกายและทำงานหนักในที่โล่งแจ้ง เพราะร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก
  • ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
    และโรคภูมิแพ้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
  • สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการเคืองตา แสบจมูก แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์ทันที
  • สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน และสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ รวมทั้งเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน
  • จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และพกติดตัวไว้ หากอาการกำเริบจะช่วยรักษาอาการในเบื้องต้น
  • ติดตั้งระบบกรองอากาศที่อยู่ที่อาศัย โดยเลือกแบบถอดล้างได้ เพื่อลดผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น