(มีคลิป)ชาวสารภีร่วมใจ “ไม่เผา เราทำปุ๋ย” จากใบยางนา

ผวจ.เชียงใหม่ เปิดกิจกรรม “Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ณ สำนักงานเทศบาลตำบลสารภี (แห่งที่ 2)

เมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ณ สำนักงานเทศบาลตำบลสารภี (แห่งที่ 2) อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม “Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอสารภี เกษตรอำเภอสารภี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี นายกเทศมนตรีตำบลสารภี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิทยากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนเกษตรกรทุกหมู่บ้าน และผู้เข้าร่วมกิจกรรม จาก 12 ตำบล

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดกิจกรรม “Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วัตถุประสงค์และความสำคัญของการจัดกิจกรรมฯ ในวันนี้ เพราะนอกจากจะดำเนินการให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดเชียงใหม่แล้ว การดำเนินงานดังกล่าวได้มีความมุ่งหมายเพื่อการรักษาอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนเชียงใหม่และผู้มาพักอาศัยในพื้นที่ ทั้งโดยอาศัยกลไกทางกฎหมาย กลไกการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาตามหลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 มาร้อยเรียงเป็นชุดความรู้เพื่อการปฏิบัติการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายนั้น มีหลายฉบับที่บังคับใช้เพื่อการควบคุมมลภาวะทางอากาศ เช่น พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นต้น
ในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการเสนอร่างกฎหมายที่สำคัญเพื่อการจัดการและดูแลสภาวะทางอากาศ นั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไฟป่า ที่กระทบต่อสุขภาพคนไทยด้วย การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ ทุกฝ่าย ทุกท่าน จะได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความตระหนักเพื่อสร้างบรรยากาศของอากาศบริสุทธิ์ร่วมกัน โดยการงดเผา ด้วยการส่งเสริมการจัดทำปุ๋ยหมักจากใบยางนาแบบไม่พลิกกอง ภายใต้บริบทของคนตำบลสารภี ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญและต้องเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะช่วยแก้ปัญหาการเผาขยะในชุมชน และการรักษาอากาศเพื่อทุกคนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายวรุตม์ วิศิษฏ์ศิลป์ นายอำเภอสารภี กล่าวว่าสืบเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศให้วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 เป็นห้วงเวลาของการควบคุมการเผา หรือควบคุมการใช้ไฟในพื้นที่โล่งทุกชนิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชั่น FireD ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่ โดยศูนย์บัญชาการอำเภอจะเป็นผู้อนุญาตและดูแลควบคุมการใช้ไฟ สำหรับนโยบาย “เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา” คือ การเปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้ให้ปลอดการเผา โดยใช้วิธีการอื่นเข้ามาบริหารจัดการเชื้อเพลิงแทน อาทิ การไถกลบตอซัง หรือการเปลี่ยนเศษซากวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยเปลี่ยนจากพื้นที่ที่กำลังจะลุกเป็นไฟเป็นพื้นที่ไถกลบเพื่อลด PM 2.5 และมีอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ขณะเดียวกันในเขตพื้นที่ของชุมชนเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้เทศบาลทุกแห่งได้จัดหารถเก็บขยะให้เพียงพอและทั่วถึงต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน และให้จัดหารถเพิ่มเติมสำหรับเก็บเศษซากวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากขยะ อาทิ กิ่งไม้ ใบไม้ ยางรถยนต์ และอื่น ๆ เป็นการดึงเชื้อเพลิงออกจากชุมชน เพื่อลดสาเหตุการเผาในเขตเมืองต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ก็ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมีกิจกรรมในการบริหารจัดการเพื่อลดการเผากิ่งไม้ ใบไม้ และขยะมูลฝอย โดยเฉพาะเทศบาลตำบลสารภี เองนั้น มีถนนหมายเลข ๑๐๖ (เชียงใหม่-ลำพูน) เป็นถนนที่มีความงดงามของต้นยางนาทั้ง ๒ ข้างทาง โดยมีจำนวนมากถึง ๓๑2 ต้น ในแต่ละปีจะมีใบ ดอก ลูกยางนาร่วงหล่นบนถนนในปริมาณมาก เทศบาลฯ จึงได้เกิดแนวคิดในการส่งเสริมการจัดทำปุ๋ยหมักจากใบยางนาแบบไม่พลิกกอง เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมักให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีผลให้สามารถลดการเผาใบยางนาที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น อำเภอสารภี ร่วมกับเทศบาลตำบลสารภี จึงเห็นว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงเห็นควรจัดกิจกรรม “Kick Off อำเภอสารภีไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖7 ขึ้น

กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ตัวแทนเกษตรกรของทุกหมู่บ้านในพื้นที่เทศบาลตำบลสารภี คณะทำงานและผู้มีเกียรติ รวมทั้งสิ้น 150 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง มาเป็นวิทยากรในวันนี้

ด้านนายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีตำบลสารภีกล่าวว่าการจัดกิจกรรม “Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ 2567 เทศบาลตำบลสารภีได้การท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ ถนนสายวัฒนธรรม (ถนนเส้นต้นยางนาสารภี) เป็นถนนที่มีความงดงามของต้นยางนาทั้ง ๒ ข้างทาง มีจำนวนมากถึง ๓๑2 ต้น และศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน ที่อยู่ในเขตติดต่อระหว่างตำบลสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กับตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพี่น้องประชาชนใน 2 ตำบล และยังคงเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ในโอกาสที่ทุกท่าน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนพื้นที่เทศบาลตำบลสารภีในครั้งนี้ ผมขอให้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทุกประการ และสุดท้ายนี้ หากมีเวลาขอเรียนเชิญท่านได้แวะชมบรรยากาศต้นยางนา และชมต้นยางนาต้นที่ 1 และสักการะศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น