ชาวบ้านช่วยตัวลิ่นสองแม่ลูก หนีไฟป่า

ชาวบ้านช่วยไว้ก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ลิ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 157 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และถูกบรรจุไว้ในบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ของ CITES สถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ได้รับแจ้งจาก นายยิ่งยศ ทิโน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าว่า มีชาวบ้านแจ้งให้ไปช่วยลูกสัตว์ป่าที่หนีจากป่าใกล้หมู่บ้าน โดยนางณัฐชล ดิษฐ์ศิริ หมู่ที่ 1 ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน แจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ไปรับตัวลิ่นพลัดหลงจำนวน 2 ตัว ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง จึงได้มอบหมายให้นายยิ่งยศ ทิโน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ดำเนินการเร่งรัดช่วยเหลือตัวลิ่นจำนวน 2 ตัว ที่หมู่ที่ 1 ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อยจ.แม่ฮ่องสอน

โดยพบ ลิ่น 2 ตัว ตัวแม่ เกล็ดสีน้ำตาลเข้มความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร อายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม สำหรับตัวลูก(เพศผู้) เกล็ดสีน้ำตาลเทาความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร อายุ 4 เดือน น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม โดยทั้งคู่เป็นตัวลิ่นแม่ลูก ที่คาดว่าพลัดหลงจากป่า ซึ่งส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า จะได้ทำการตรวจร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์แล้วนำกลับไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพต่อไป

ตัวลิ่น หรือลิ่นพันธุ์มลายู หรือลิ่นชวา (ชื่อภาษาอังกฤษ pangolin ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manis javanica) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเกล็ดและขน มีหางยาว ปากทรงแหลม หากินโดยการใช้ลิ้นยาวถึง 2 เซนติเมตร ตวัดจับแมลง มด และปลวกเข้าปาก ขามีอุ้งเล็บใหญ่ยาวและแข็งแรง ใช้ตะกุยดิน และทะลายจอมปลวก เกล็ดที่หนาป้องกันการโจมตีกลับของมด ปลวกและศัตรูนักล่าชนิดอื่นๆได้ดี ลิ่นจะม้วนตัวเป็นก้อนกลม เก็บส่วนท้องและส่วนหัวที่เป็นจุดอ่อนไว้ใต้ด้านใน ขอบเกร็ดของลิ่นจะคมมากสามารถใช้เป็นอาวุธได้ ลิ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 157 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และถูกบรรจุไว้ในบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ของ CITES สถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN Red List) ห้ามล่า พยายามล่า ค้า นำเข้า หรือส่งออก ครอบครอง เพาะพันธ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษทางอาญา ตามที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น