ผต.มท.ร่วมหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันนี้ (25 เม.ย. 2567) นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบเขตตรวจราชการที่ 15 เดินทางตรวจราชการประจำเดือนเมษายน 2567 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยลงพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง และปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงาน โดยมี นายผะอบ บินสะอาด ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามข้อสั่งการของรองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(อนุทิน ชาญวีรกุล) ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมรับฟังแนวทางข้อเสนอแนะนำจากพื้น ที่เพื่อรวบรวมข้อเสนอให้แก่รัฐบาล ทราบและพิจารณาดำเนินการ

โดยนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบเขตตรวจราชการที่ 15 กล่าวว่า ตามที่มีสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกุล) ได้ดำริให้มีการสัมมนา (brainstorming) เพื่อระดม ความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว

ขณะที่นายวรศักด์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง ได้รายงานสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ในปี 2566 ที่ผ่านมา สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 เมษายน 2567 เกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 3,573 จุด เกินค่าเป้าหมายที่กำหนดโดยต้องไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 1,515 จุด ซึ่งอำเภอแม่สะเรียงเกิดจุดความร้อนมากที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ อำเภอแม่สะเรียง ได้มีการบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองผ่านมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี 2567 ทั้ง 8 มาตรการ ประกอบด้วย
1) มาตรการประชาสัมพันธ์
2) มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
2.1) การนำเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์
2.2) ชิงเผาตามหลักวิชาการโดยลงทะเบียนผ่านแอพเบิร์นเช็ค
3) มาตรการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ
4) มาตรการเผชิญเหตุในสถานการณ์วิกฤตรุนแรง
5) มาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตเมือง
6) มาตรการดูแลสุขภาพของประชาชน
7) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย
8) มาตรการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ การน้อมนำพระราชดำริ “สร้างป่า สร้างรายได้” เกษตรและชุมชนปลอดการเผา

ทั้งนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยฯ ขอให้ดำเนินการลาดตระเวนตลอดช่วงเดือนเมษายน โดยการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง พร้อมทั้งวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่เกิดจุดฮอตสปอต พื้นที่ที่มักเกิดปัญหาเป็นประจำทุกปี ให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าดำเนินการเบื้องต้น และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยป่าไม้ อุทยานเข้าช่วยเหลือ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียงตระหนักถึงผลกระทบ และอันตรายอันเกิดจากไฟป่า ประกอบกับการปลูกฝังทัศนคติแก่เยาวชนผ่านสถาบันการศึกษา

ร่วมแสดงความคิดเห็น