ทางรอดชาวสวนลำพูน รวมกลุ่มผลิต แปรรูป สร้างรายได้ยั่งยืน

ชูลำไยแปลงใหญ่ ทางรอดชาวสวนลำพูน รวมกลุ่มผลิต แปรรูป สร้างรายได้ยั่งยืน ผลผลิตไม่พอจำหน่าย

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตร โดยจัดทำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน ให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และ ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญแต่ละปีที่สร้างงานสร้างเงิน ให้เกษตรจำนวนมาก ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนผู้ปลูกลำไยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ



นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปี 2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนผู้ปลูก
ลำไย 138,656 ครัวเรือน 241,675 แปลง มีพื้นที่ปลูกลำไย 1,039,756 ไร่ เป็นลำไยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 26,219 ไร่เป็นลำไยที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จำนวน 1,013,536 ไร่ในส่วนแปลงใหญ่ลำไยปัจจุบันมี 205 แปลง พื้นที่รวม 93,236 ไร่สมาชิก รวม 11,122 ราย โดยมีสมาชิกที่ได้รับ จีเอพีหรือมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม 7,505 ราย และเป็นลำไยอินทรีย์ 57 ราย ได้สนองนโยบายกระทรวง มีการสั่งการให้เกษตรจังหวัดเข้าไปดูแลเกษตรกรชาวสวนลำไยตั้งแต่การปลูกไปถึงการเก็บเกี่ยว ให้ได้ลำไย
คุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดมาโดยตลอด


ด้านนายวิชัย ตู้แก้ว เกษตรจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่าลำพูนมีเกษตรแปลงใหญ่ 82 แปลง เป็นแปลงใหญ่ลำไย55 แปลง กระจาย 8 อำเภอ แปลงใหญ่ลำไย ต.ป่าซาง อ.ป่าซาง เป็นหนึ่งในแปลงใหญ่ ที่มีการขับเคลื่อนงานยกระดับแปลงใหญ่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ดูแลการปลูก การรักษา การคัดคุณภาพ จนถึงการแปรรูป ที่ผ่านๆมาตำบลป่าซาง มีผู้ปลูกลำไย 385 ราย พื้นที่ปลูก 1,434 ไร่ ประสบปัญหาต้นทุนผลิตสูงลำไยไม่ได้คุณภาพ ราคาตกต่ำ จึงมีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ใน ปี 62 เป็นกลุ่มลำไยแปลงใหญ่ตำบลป่าซาง สามารถลดต้นทุนผลิตได้ถึงร้อยละ 21.67 ผลผลิตกลุ่มเพิ่มขึ้น 23.08% มีการวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทำให้ผลผลิตได้ราคาดี



” เป้าหมายบริหารจัดการ จะเน้นลดปริมาณผลผลิตลำไยในฤดูกาลจะเพิ่มการผลิตลำไยนอกฤดูจาก70:30
เป็น 65:35 ในฤดูกาลผลิต 2565/2566 เพื่อยกระดับรายได้จากการผลิตลำไยให้มากขึ้น และจะ ส่งเสริมผลิตลำไยอัตลักษณ์ลำพูน ได้แก่ สายพันธุ์เบี้ยวเขียว, ส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกหรือพืชแซมในสวนลำไยเพื่อสร้างรายได้ รณรงค์ให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อเข้าสู่ระบบเกษตรแปลงใหญ่เป้าหมาย 50% ของพื้นที่ปลูกให้ได้ภายในปี 2566-2570 เข้าสู่มาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม อย่างน้อย 80% ด้วย” รวมถึงจะพยายามดำเนินการให้เกษตรกรลดการพึ่งพาการแปรรูปของโรงงานที่ควบคุมราคาทั้งระบบ สร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต เจ้าของกิจการรวบรวมผลผลิต (ล้ง) และโรงงานแปรรูป ร่วมกันยกระดับการผลิตลำไยอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบการผลิตพืชอุตสาหกรรมในอนาคต
ด้านนางสุมิตรา ไชยเวียง เลขานุการกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า กลุ่มมีการร่วมคิดร่วมกันทำ ในการผลิตลดการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยหมัก



เพื่อลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีผลขนาดใหญ่ จนได้การรับรองมาตรฐานในด้านการตลาด มีการจำหน่ายผลผลิตที่หลากหลายช่องทางนอกจากนั้นยังร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่การสร้างลำไยให้เป็นสินค้านวัตกรรมเป็นลำไยอบแห้งสีทองสีสวยหอมและหวาน รสชาติเสมือนกินผลสด เก็บได้นาน มีการทำลำไยผง และพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้า และมะม่วง มาแปรรูป ยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย อยากบอกพี่น้องชาวสวนลำไยว่าตลาดลำไยคุณภาพยังต้องการมาก ทุกวันนี้แทบไม่มีผลผลิตเพียงพอที่ส่งขายได้ตลอดปี เกษตรกรต้องปรับตัว ทำลำไยคุณภาพให้มากขึ้น ถึงจะอยู่รอด

ร่วมแสดงความคิดเห็น