สธ.เตือน! ดื่มแอลกอฮอล์หน้าร้อน ระวังช็อก

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศร้อนอบอ้าวมาก โดยเฉพาะช่วงกลางวัน บางแห่งอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เกินอุณหภูมิปกติของร่างกายซึ่งอยู่ที่ระดับ 37 องศาเซลเซียส สภาพอากาศเช่นนี้ อาจส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วย เนื่องจากความร้อนทำให้หลอดเลือดขยายตัว จะมีผลต่อการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย เกิดการสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังและต่อมเหงื่อมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เนื่องจากน้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกาย

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ส่วนผู้ทำงานในที่ร่ม ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว วิธีสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมเพียงพอหรือไม่นั้น สังเกตง่ายๆ จากสีของน้ำปัสสาวะ หากมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้ามีสีเหลืองเข้มคล้ายน้ำชาและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอจะต้องดื่มน้ำให้มากๆ

สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มในช่วงที่ร้อนอบอ้าว คือ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ผสมทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ สาโทอุ กระแช่ น้ำตาลเมา ไม่ว่าจะดื่มโดยใส่น้ำแข็งหรือไม่ใส่ก็ตาม เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น จะมีผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงขึ้น และแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้นจะมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือด อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ยิ่งหากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจ ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นไปอีก อาจเกิดเส้นเลือดแตกเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 57 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ดื่มเหล้ามากถึง 17 ล้านกว่าคนหรือประมาณร้อยละ 32 ของประชากรวัยนี้ที่มีประมาณ 54 ล้านกว่าคน

ร่วมแสดงความคิดเห็น