กรมอนามัย แนะ ประชาชนเลือกซื้อน้ำแข็งสะอาดได้มาตรฐาน GMP

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP โดยสังเกตรายละเอียดบนฉลากภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ดูเครื่องหมาย อย.หรือเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ลดเสี่ยงโรคในระบบทางเดินอาหาร

วันที่ 11 เมษายน 2567นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยในการแถลงข่าว เรื่อง สงกรานต์ ร้อนแรง บริโภคน้ำแข็ง ต้องสะอาด ปลอดภัย ณ ห้องรับรอง อาคาร 1 กรมอนามัย ว่า สถานการณ์ช่วงหน้าร้อน ประชาชนจะนิยมซื้อเครื่องดื่ม และของหวาน เพื่อดับกระหาย และคลายร้อน เมนูยอดนิยมส่วนใหญ่ ได้แก่ น้ำแข็งไส หวานเย็น ขนมปังเย็น น้ำผลไม้ปั่น หรือน้ำหวานต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำแข็งเป็นหลัก กรมอนามัยมีความห่วงใยสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีการรวมตัวกันในสถานที่ต่างๆ และมีการจำหน่ายน้ำแข็ง ซึ่งถ้าน้ำแข็งไม่สะอาดอาจปนเปื้อนเชื้อโรคเสี่ยง
ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้ ดังนั้น ผู้จำหน่ายน้ำแข็งจะต้องคำนึงถึง ความสะอาด ปลอดภัย สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องมีระดับสูงกว่าทางเดินง่ายต่อการทำความสะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อน
ในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียวอาจจะมีที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ไม่ควรใช้แก้วหรือถ้วย กระป๋องจ้วง ตักน้ำแข็ง และห้ามนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำแข็งสำหรับบริโภค
         
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการร้านค้า ควรเลือกใช้น้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ซึ่งครอบคลุมด้านสุขลักษณะตั้งแต่ สถานที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต คุณภาพน้ำที่ใช้ผลิต ภาชนะบรรจุ กระบวนการบรรจุ กระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงสุขลักษณะของผู้ปฎิบัติงาน และการควบคุมสัตว์แมลงนำโรค และเน้นย้ำร้านอาหารต่าง ๆ ต้องไม่นำน้ำแข็งที่แช่เครื่องดื่มหรือแช่เนื้อสัตว์มาจำหน่ายให้ผู้บริโภค สำหรับประชาชนควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP โดยสังเกตรายละเอียดบนฉลากภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ดูเครื่องหมาย อย.หรือเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หากจะบริโภคน้ำแข็งที่ใช้ตักแบ่งขายในร้านอาหาร ควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่ง โดยถุงกระสอบหรือที่เป็นน้ำแข็งบดบรรจุกระสอบมาส่ง หรือน้ำแข็งที่แช่เครื่องดื่มหรือแช่เนื้อสัตว์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และสุขภาพที่ดีตลอดช่วงหน้าร้อนนี้

“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่137 (พ.ศ.2534) หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ยังบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุมสถานที่ผลิต สะสม แบ่งบรรจุหรือขนส่งน้ำแข็งซึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและตรวจสอบสุขลักษณะของการจำหน่ายน้ำแข็งในร้านอาหารและแผงลอย ตามข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นๆ หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษจำคุก
ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น