เสริม-สนับสนุนการปฏิบัติการตอบโต้ เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี

คพ. สร้างคนรุ่นใหม่ เสริม-สนับสนุนการปฏิบัติการตอบโต้ เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานที่มีการสะสมสารเคมีและวัตถุอันตรายเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2564 เกิดเหตุขึ้นประมาณ 180 ครั้ง เป็นอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม 93 ครั้ง การขนส่งสารเคมี 41 ครั้ง ไฟไหม้บ่อขยะ 25 ครั้ง โกดังเก็บสารเคมี 15 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปพลาสติก โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานรีไซเคิล ร้านรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิล ไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ในหลายกรณีเมื่อเกิดเหตุแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง เหตุการณ์สำคัญ อาทิ เหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนในพื้นที่โดยรอบ เสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท มลพิษจากเขม่าควันและไอระเหยสารเคมี ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบในรัศมีไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ล่าสุดคือ เหตุเพลิงไหม้โรงงานรับกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม จังหวัดราชบุรี ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ด้านท้ายลม เป็นต้น

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของปัญหามลพิษ จากเหตุอุบัติภัยสารเคมี รวมถึงการปกป้องประชาชนจากภาวะมลพิษต่างๆ และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้และมีทักษะเพื่อเสริม-สนับสนุนการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี ให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีระดับเทคนิค ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2565 ณ อาคาร คพ. และศูนย์พัฒนาการดับเพลิงและกู้ภัย จังหวัดนครปฐม โดยผู้เข้าร่วมฝึกอบรมมาจากหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ 1 ถึง 16 เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมจากส่วนกลาง และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินมลพิษจากสารเคมี จำนวน 50 คน ซึ่งการอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นการให้ความรู้และทักษะในการวางแผนเตรียมการ การฝึกปฏิบัติในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี และการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบบ่งชี้กากของเสียและไอระเหยสารเคมีในภาคสนาม เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดและบูรณาการการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้างเครือข่ายหน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ หากเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี โทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1650 นายอรรถพล กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น