ขนพวงมาลัย 1,000 พวง สับปะรด 100 ลูกแก้บนพระธาตุช่อแฮ

ศรัทธาเปี่ยมล้น! ขนพวงมาลัย 1,000 พวง สับปะรด 100 ลูก และผลไม้แก้บนองค์พระธาตุช่อแฮ ทำให้คู่ชีวิตผ่านวิกฤตผ่าตัดเนื้องอกในสมอง กลับมาเป็นปกติ

เรื่องราวของความศรัทธาในพุทธคุณองค์พระธาตุช่อแฮ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ รายนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อ.เมือง จ.แพร่ ได้มี นางผ่องพรรณ สอนเนตร อายุ 40 ปี อยู่บ้าน ม.4 ต.นายาง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นำพวงมาลัย 1,000 พวง สับปะรด 100 ลูก และผลไม้ เช่น กล้วย แตงไทย แก้วมังกร ลองกอง แก้บนกับองค์พระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ ฯ

นางผ่องพรรณ เล่าด้วยความศรัทธาว่า ที่นำพวงมาลัย สับปะรด มาแก้บนในวันนี้ว่า หลังจากบนให้สามี ชื่อนายกิตติศักดิ์ บาดาล สามี เป็นเนื้องอกในสมอง ขนาดของเนื้องอก 7 ซม. มีอาการปวดตา ปวดหัว ตนจึงมาบนไว้กับองค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุที่ตนเคารพนับถือมาช้านาน บนว่าขอให้สามีที่กำลังผ่าตัด ให้หายป่วย แข็งแรงดังเดิม จนบัดนี้ 2 ปีผ่านมา สามีหายแล้ว แข็งแรง ทำงานได้ตนจึงมาแก้บนกับญาติๆ เช่นนางพรทิพย์ ครุฑดี ก่อนหน้านั้นได้นำทุเรียนมาแก้บน 100 กิโลเป็นต้น

พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะ จ.แพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เจริญพร องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 11 ถนนช่อแฮ ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ อยู่ห่างจากตัว อ.เมือง ประมาณ 8 กิโลเมตร องค์พระธาตุเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน บุด้วยทองดอกบวบสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร องค์พระธาตุ บรรจุ พระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทยมาช้านาน

ด้วยความสำคัญดังกล่าว จ.แพร่ นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของ จ.แพร่และนำมาเป็นคำขวัญประจำ จ.แพร่ ดังนี้ “หม้อฮ่อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลื่อเลืองแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

ประวัติการสร้างวัดพระธาตุช่อแฮนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า สมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับขุนลั๊วะอ้ายก้อมหัวหน้าชุมชนในยุดนั้น ขุนลั๊วะอ้ายก้อมได้นำมาบรรจุในท้องสิงห์ทองคำไว้ในถ้ำใต้องค์พระธาตุแห่งนี้ และรับสั่งว่าเมื่อทรงปรินิพพานแล้ว ให้นำพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกซ้ายมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ และเมืองนี้จะได้ชื่อว่า เมืองแพร่

ด้านประวัติศาสตร์ จากพระราชพงศาวดารว่า ด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง จุลศักราช 586-588 (พ.ศ. 1879-1881) ในสมัยที่พระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้เสด็จมาสักการะพระธาตุช่อแฮ และบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ และขนานนามภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งองค์พระธาตุว่า “โกสิยธชัคคปัพพเต”หรือ “โกศัยธชัคคบรรพต” จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน มีการนำผ้าแพรชั้นดีมาห่มพระธาตุ ถวายเป็นพุทธบูชา จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ” คำว่า “แฮ”สันนิฐานว่ามาจากชื่อเรียกผ้าแพร ที่พุทธศาสนิกชนถวายบูชาพระธาตุ

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นวัดราษฎร์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2549 ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 96 ง ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

พ.ศ.2501 วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระ นางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกราบสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ และทรงเยี่ยมราษฎร์ในบริเวณวัด พ.ศ.2554 วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกปลีบัวทองคำ ประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ

การบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุช่อแฮในระยะแรกๆนั้น มีหลักฐานปรากฏสรุปดังนี้ พ.ศ.2312 พระเจ้าพระเมืองไจย(พระยาศรีสุริยวงษ์)สร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ภายนอกปิดด้วยทองแดงและโบสถ์หลังหนึ่ง พ.ศ.2361 เจ้าหลวงเทพวงศ์(ลิ้นตอง)เจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ พ.ศ.2373 เจ้าหลวงอินทวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากจากเจ้าหลวงเทพวงศ์

พ.ศ.2415 เจ้าหลวงพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และเจ้าหลวงพิริยะอุดรฯ (พระยาพิริยะวิชัย) ได้อุปถัมภ์พระธาตุช่อแฮ พ.ศ.2437 พญาเทพวงษ์ รื้อโบสถ์เก่าที่พระยาศรีสุริยวงศ์สร้างไว้ และสร้างขึ้นใหม่ โดยมีราษฎรช่วยกันบริจาคทรัพย์เป็นค่าอิฐค่าปูนและค่าว่าจ้างทั้งหมด เป็นเงินประมาณ 8,000 บาท พ.ศ.2449 เจ้าน้อยนามวงษ์ ได้สร้างฉัตร 1คัน นำไปบรรจุพระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก เป็นเงิน 346 บาท

พ.ศ.2451 พญาบุรีรัตน์ สร้างธรรมาส์น 1 หลัง ราคา 360 บาท พ.ศ.2459 พระครูพุทธวงศาจารย์ เจ้าคณะจ.แพร่ เป็นประธาน พร้อมชาวเงี้ยวและชาวพื้นเมืองบริจาคเงินรวม 1,100 บาท รื้อปราสาทเทียมสี่มุมประตูเข้าพระเจดีย์และสร้างใหม่ และ พ.ศ.2460 ได้สร้างเจดีย์เทียมขึ้นที่ด้านนอกระเบียงด้านตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) ของเจดีย์มูลค่า 2,200 บาท

พ.ศ.2461พระครูพุทธวงศาจารย์ เจ้าคณะ จ.แพร่ พร้อมด้วย พญาบุรีรัตน์ เป็นประธานได้แผ่กุศลเฉพาะใน จ.แพร่ โดยรวบรวมเงินจากการบริจาค รายละ 100 บาท 50 บาท(มีรานนามผู้บริจาคชัดเจน) ได้เงิน 4,128 บาท พ.ศ.2467 พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชนทำการบูรณะองค์พระธาตุช่อแฮครั้งใหญ่ โดยรื้อทองจังโกรอบองค์พระธาตุออก และเสริมองค์พระธาตุให้มีขนาดกว้างและสูงขึ้น ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 11 เมตร สูงจากฐานถึงยอดพระธาตุ 33 เมตร ใช้แผ่นทองเหลืองปิดรอบพระธาตุแทนทองจังโกที่รื้อออก สร้างรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ด้าน มีประตูเข้าออก 4 ด้าน แต่ละประตูได้สร้างซุ้มปราสาทไว้อย่างสวยงาม

ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2565 จ.แพร่ จะจัดมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ม่วนอ๊ก ม่วนใจ๋ เที่ยวไทยเมืองเหนือ งามเหลือชาติพันธุ์ นมัสการพระธาตุช่อแฮ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น