ปภ.แนะเฝ้าระวัง – รับมือถูกต้อง…ปลอดภัยจากดินถล่มภัยพิบัติ

ปภ.แนะเฝ้าระวัง – รับมือถูกต้อง…ปลอดภัยจากดินถล่มภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน

ดินถล่มมักเกิดพร้อมกับน้ำป่าไหลหลากหรือภายหลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินชุ่มน้ำมากและถล่มลงมา โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขาหรือที่ลุ่มใกล้เชิงเขา เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่ม ดังนี้
รู้ทัน…สัญญาณเตือนก่อนดินถล่ม
1. เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง
2. ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ หรือเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา
4. มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขา หรือลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน เสียงไหลของโคลน
5. สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น หรือตกใจ
6. ดินอยู่ในสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ
7. มีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไหลมากับกระแสน้ำ

4 วิธีเตรียมพร้อมก่อนดินถล่ม
1. สำรวจสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยเกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน
2. ติดตามข้อมูลสภาพอากาศประกาศแจ้งเตือน รวมถึงตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่
3. หมั่นสังเกตความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้แจ้งเตือนการอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
4. วางแผนและศึกษาเส้นทางหนีภัย โดยเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรเข้าร่วมฝึกซ้อมอพยพหนีภัยอยู่เสมอจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดดินถล่ม
1. อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย ห่างจากแนวการไหลของดิน และพื้นที่เสี่ยงดินถล่มอย่างน้อย 2 – 5 กิโลเมตร
2. อยู่ห่างจากลำน้ำให้มากที่สุด เพราะน้ำจะพัดดิน หิน และต้นไม้ตามลำน้ำ ก่อให้เกิดอันตรายได้
3. เลี่ยงเส้นทางที่เป็นแนวการไหลของดินหรือกระแสน้ำเชี่ยว เพื่อป้องกันการจมน้ำเสียชีวิต
ทำอย่างไรเมื่อขับรถผ่านเส้นทางดินถล่ม

  • ตรวจสอบพยากรณ์อากาศและสภาพเส้นทาง พร้อมเพิ่มควาระมัดระวังในการขับรถ ไม่ขับรถเร็ว และไม่ขับชิดไหล่ทาง เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากหินหล่นหรือดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง
  • สังเกตสภาพแวดล้อมริมทาง หากระดับน้ำในร่องน้ำเพิ่มสูงขึ้น มีสีเดียวกับสีดินภูเขา หรือมีร่องรอยดินสไลด์ตามไหล่ทาง ให้หยุดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย
  • หากมีดินถล่มปิดทับเส้นทาง ให้โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ควรฝืนขับรถผ่านเส้นทางที่ดินถล่ม เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

ทั้งนี้ การรู้สภาพความเสี่ยงภัยดินถล่มในพื้นทื่ รู้จักสัญญาณเตือนก่อนเกิดดินถล่ม รวมถึงรู้รับมืออย่างถูกวิธี
เมื่อเกิดดินถล่ม จะช่วยลดอันตรายและความสูญเสียจากดินถล่มได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น