กมธ.เตรียมทำหนังสือชะลอการลงนาม หวั่นซื้อไฟฟ้าแพงจากลาว

หวั่นซื้อไฟฟ้าแพงจากลาวภาระตกหนักประชาชน กมธ.เตรียมทำหนังสือชะลอการลงนาม

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ที่ต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่อง ผลกระทบจากสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ในโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนไทย ซึ่งได้มีการเชิญตัวแทนภาคประชาชนและผู้แทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาร่วมชี้แจง โดยมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลเป็นประธาน

น.ส.ศิริกัญญาให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงให้ตรวจสอบสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว 3 โครงการคือเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลายและเขื่อนหลวงพระบาง เพราะอัตราการรับซื้อไฟแพงกว่านอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนจีนและเขื่อนไซยะบุรีไซยะบุรี ทำให้เกิดความผันผวนของน้ำและส่งกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนจำนวนมาก

ประธาน กมธ.กล่าวว่า ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นและมีไฟฟ้าสำรองเกิน 50% แต่กลับมีการสร้างเขื่อนและซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า ต้องเริ่มทำสัญญาและมีการก่อสร้างเขื่อนในช่วงนี้ เพราะกว่าจะเปิดให้บริการได้ก็ต้องใช้เวลา และหากถึงเวลานั้นไฟฟ้าสำรองของประเทศอาจลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อขอให้ผู้แทนหน่วยงานได้ชี้แจงตัวเขา แต่เขาไม่สามารถตอบได้ เราจึงขอให้เขาน้ำข้อมูลมาให้เพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไป

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ว่าในประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าแพง จากเรื่องจาก 1.9 บาทต่อหน่วยเป็น 2.9 บาทต่อหน่วยนั้น ได้รับคำอธิบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้ค่าก่อสร้างที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือสิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาระของประชาชนที่จ่ายค่าไฟแพงขึ้น แม้มีบางคนตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทน ได้รับคำชี้แจงว่าต้องการตอบสนองนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ซึ่งเป็นไปตามแผนพีดีพีฉบับเดิมที่กำลังหมดอายุ ทำให้ตนรู้สึกแปลกใจว่าแล้วทำไมจึงต้องเร่งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ประธาน กมธ.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ในเรื่องผบลกระทบยสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานราชการแทบตอบไม่ได้เลย แค่บอกว่าพยายามหามาตรการเยียวยาประชาชน และใช้เงินเริ่มต้นสำหรับกองทุน 45 ล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลายล้านคน

“เราได้ร้องขอดูการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ข้ามพรมแดน แต่ผู้แทนหน่วยงานบอกว่าเขาเองก็ยังไม่เห็นทั้ง 3 เขื่อน และบอกว่ารอให้เซ็นสัญญาก่อนแล้วนำอีไอเอมาประกบแนบ ทำให้เกิดคำถามว่า หากถึงเวลานั้นอีไอเอไม่ผ่าน แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราเห็นว่าเป็นเหตุผลสำคัญชะลอที่ควรชะลอการลงนามซื้อไฟฟ้าออกไปก่อน”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ขณะที่นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ซึ่งร่วมให้ข้อมูลในที่ประชุม กมธ.กล่าวว่า จากการฟังการชี้แจงของ กฟผ. ทราบว่าขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 เขื่อน โดย กพช. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาฯแล้ว อยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างสัญญาโดยสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ก่อนที่ กฟผ.จะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่ง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนแนวทางการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชน มิให้เกิดสัญญาผูกพันในลักษณะ take or pay “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเสียเปรียบเพราะเป็นสัญญาผูกพันระยะยาวถึง 29-35 ปี

“สิ่งหนึ่งที่ได้ฟังแล้วมีความกังวลคือ มีการระบุถึงกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อน ใน 8 จังหวัดของไทย งบประมาณรา 45 ล้านบาทต่อปี เมื่อถามว่าตัวเลขนี้มาจากไหน ใครบ้างที่จะได้รับการเยียวยา หน่วยงานก็ตอบว่าอยู่ที่เอกชนผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งเวลานี้ยังไม่ทราบว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ต้องมีการพิสูจน์ และยังไม่พบว่ามีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ครอบคลุมเพียงพอ” นส.เพียรพร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น