ศปก.ฟป.อช.ขุนน่าน พบไฟไหม้นอกพื้นที่อุทยาน เร่งเข้าดับเกรงลามเข้าพื้นที่

ศปก.ฟป.อช.ขุนน่าน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) พบไฟไหม้นอกพื้นที่อุทยาน เร่งเข้าดับเกรงลุกลามเข้าพื้นที่

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 14.30 น. ภายใต้อำนวยการ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 มอบหมายให้ นายต่อพงศ์ จันโทภาส ผอ.ศปก.สบอ.13(แพร่) นายพินิจ คงประพันธ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอุทยานแห่งชาติขุนน่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อส.ที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ ผู้ใหญ่บ้านนาคอก หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อเกลือใต้ สารวัตรกำนัน ตำบลบ่อเกลือใต้ และราษฎรบ้านนาคอก รวม 30 นาย ร่วมกันปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า บริเวณป่าห้วยอ๋อ พิกัด 47Q 726624E 2114169 N ท้องที่บ้านนาคอก หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน และไม่ปรากฏในรายงานจุดความร้อนประจำวันของดาวเทียม การปฏิบัติการในครั้งนี้สามารถควบคุมการลุกลามของไฟไม่ให้ลุกลามเข้าสู่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่านได้สำเร็จมีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 20 ไร่

นายพินิจ คงประพันธ์ หน.ศปก.ฟป.อช.ขุนน่าน กล่าวว่า จากการรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ยังไม่ปรากฏสถานการณ์ไฟไหม้ในพื้นที่แต่อย่างใดแต่เนื่องจากในขณะนี้สภาพอากาศที่ร้อนมากและก่อให้เกิดความแห้งแล้งขยายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการมีไฟเกิดขึ้นในครั้งนี้ซึ่งเป็นนอกพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านจึงได้รวบรวมกำลังเจ้าหน้าที่ของอุทยานและประสานความร่วมมือไปยังส่วนต่างๆเพื่อช่วยกันควบคุมไฟไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน่านได้สำเร็จ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน มีพื้นที่ 153,982 ไร่ ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีอาณาเขตด้านตะวันออกติดกับ สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชัน ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 600 – 2,026 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา แต่พื้นที่บางส่วนบริเวณชายแดน เป็นทุ่งหญ้า ป่าหญ้าคา เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า อุทยานแห่งชาติขุนน่านได้จัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน ตามระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ซึ่งการออกปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ใช้ระยะเวลา 5-7 วัน และเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งในครั้งนี้เป็นการพบเห็นไฟก่อนและอยู่นอกเขตอุทยาน ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติขุนน่าน

ในขณะเดียวกัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ประกาศฉบับที่ 1 (20/2567) เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 8–11 เมษายน 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน
จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับในช่วงวันที่ 9 – 11 เมษายน 2567 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาและภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 8 เมษายน 2567 จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
วันที่ 9-10 เมษายน 2567 จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน
อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
วันที่ 11 เมษายน 2567 จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน
และตาก

ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ และสามารถติดตามข้อมูล
ที่เว็บไซต์ http://www.cmmet.tmd.go.th หรือที่ 053-277919 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 06.00 น.

( ลงชื่อ ) สุกฤษฎิ์ เกิดแสง
(นายสุกฤษฎิ์ เกิดแสง)
ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ
นพรพรรณ ฤทธิ์มหันต์
(นางสาวนพรพรรณ ฤทธิ์มหันต์)
ผู้พยากรณ์อากาศ
ส่วนพยากรณ์อากาศ โทรศัพท์ 053-277919
E-mail: [email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น