ส.สวนยาง วอนรัฐเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6

นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกโรงดันรัฐทบทวนเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรในพื้นที่และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ( 1 ก.พ. 66) ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องยางพารา โดยที่ประชุมนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอให้รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ รวมทั้งปัญหาที่สหรัฐอเมริกาแบนถุงมือยางจากประเทศไทยที่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งได้ยื่นหนังสือ ที่ สยท. 009/2566 ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อขอให้บรรจุเพิ่มยางพาราพืชเศรษฐกิจไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีมติ เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1. ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และฉะเชิงเทรา 2. ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพเน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี 4. พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสนสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี และ 5. เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอให้ยางพาราอยู่ในเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ทั้งนี้เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่มีการแปรรูปจากวัตถุดิบน้ำยางจากต้นยาง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 555,401 ล้านบาทต่อปี (กรมวิชาการเกษตร 2565) และพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 รองจากภาคใต้ และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เช่นเดียวกับพืชอื่นๆใน 5 คลัสเตอร์ดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งหากได้บรรจุยางพาราเป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 จะช่วยเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกรและมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

“ผมเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่าควรให้มีการพัฒนาพืชยางพารา ให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งควรเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูงเช่นเดียวกับผลไม้ รวมทั้งเน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่เช่นเดียวกับประมงเพาะเลี้ยง และยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้าเช่นเดียวกับพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ นอกจากนี้ควรมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับพืชสมุนไพร รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูงเช่นเดียวกับเกษตรมูลค่าสูง ดังนั้นผมขอวิงวอนให้รัฐบาลทบทวนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 โดยให้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการ รวมทั้งยุทธศาสตร์และกรอบวงเงินในการดำเนินโครงการต่อไป” ดร.อุทัย กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง สถาบันการสร้างชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะได้ร่วมมือกันจัด งานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ระหว่างวันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อให้เห็นศักยภาพ ความพร้อมยางพาราของไทยในพื้นที่เขต EEC สู่การผลักดันให้เพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น