คืนวันที่ 1-2 ก.พ.66 รอชมดาวหาง C/2022 E3(ZTF) ใกล้โลกมากที่สุด!

#SPACE คืนนี้! 1 – 2 กุมภาฯ ชวนชม ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ที่ไม่เคยเห็นในรอบ 50,000 ปี เข้าใกล้โลกมากที่สุด มองเห็นด้วยตาเปล่าบริเวณกลุ่มดาวยีราฟ ทางทิศเหนือ จะสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนกระทั่งรุ่งสางก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันถัดไป คาดว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเปิดเผยว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ในช่วงแรกนักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ซึ่งขณะนั้นโคจรอยู่ภายในวงโคจรดาวพฤหัสบดี ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง

โดยดาวหาง เป็นวัตถุหนึ่งในระบบสุริยะ ประกอบด้วย น้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารประกอบระเหิดง่าย รวมถึงฝุ่นและหินปะปนกันอยู่ มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณนอกระบบสุริยะ และใช้เวลาหลายปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ เมื่อโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน จะปรากฏเป็นวัตถุสว่างที่มีหางพาดผ่านท้องฟ้าในยามค่ำคืน แต่ละหางคือสสารต่าง ๆ ที่ดาวหางปล่อยออกมาแล้วสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์

.

ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา พบว่าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีคาบการโคจรครบรอบนานประมาณ 50,000 ปี ซึ่งหมายความว่าการโคจรเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในของดาวหางดวงนี้ครั้งล่าสุดอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของยุคหินเก่า ตรงกับช่วงที่มนุษย์ยุคแรกเริ่ม (นีแอนเดอร์ทาล) อยู่อาศัยบนโลกในช่วงยุคน้ำแข็ง

.

ผู้สนใจติดตามชมดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ในช่วงนี้ หากอยู่ในพื้นที่มืดสนิท จะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศเหนือ บริเวณกลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ตั้งแต่เวลาประมาณ 22:00 น. ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุด (ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์) จะสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนกระทั่งรุ่งสางก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันถัดไป คาดว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย

สำหรับเทคนิคการหาตำแหน่งดาวหาง ให้พยายามสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ หรือ ดาวดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์ จะช่วยยืนยันและเห็นดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อบันทึกภาพดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะสามารถสังเกตเห็นหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางดวงนี้ได้

ที่มา/ภาพ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ/ENVIRONMAN

ร่วมแสดงความคิดเห็น