บอร์ดแอลกอฮอล์ฯ เคาะแนวทางคุม “น้ำเมา” รองรับสงกรานต์ 21 วัน

11 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยนพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีการพิจารณาเห็นชอบ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ตามที่กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอ ภายใต้แนวคิดรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” โดยบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยหลักยังมาจากการดื่มแล้วขับ โดยวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 มีผู้ดื่มแล้วขับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 4,340 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 502 ราย และมักเกิดในถนนสายรองมากกว่าถนนสายหลัก ซึ่งในปีนี้รัฐบาลประกาศจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน จึงแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาล 1-10 เมษายน ช่วงเทศกาล 11-17 เมษายน และหลังเทศกาล 18-21 เมษายน เน้นมาตรการพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยโดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์

และขอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ร้านค้าและประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยส่งเสริมให้นายอำเภอ นักรณรงค์ มีส่วนร่วมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท (โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม) ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. และห้ามจำหน่าย/ห้ามบริโภคในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ด้วยการใช้เครื่องเป่าวัดทางลมหายใจ หากเป่าไม่ได้ให้ส่งเจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีแอลกอฮอล์เกินกำหนด คือ มากกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ด้วย นอกจากนี้ ให้เน้นมาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชน เพื่อสกัดกั้นคนเมาออกมาสู่ท้องถนน โดยการตั้งด่านครอบครัวและด่านชุมชน และให้มีการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติฐานขับรถขณะเมาสุราทุกราย พร้อมส่งต่อผู้ถูกคุมประพฤติที่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง โดยเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษา

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า 2.เห็นชอบร่างระเบียบและคำสั่ง 5 ฉบับ แบ่งเป็น 1) ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ 1 ฉบับ คือ การเลือกและการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายฯ และร่างคำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4 ฉบับ ได้แก่ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรืออนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ พ.ศ. 2551, เรื่องแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฯ, เรื่องแต่งตั้งอนุกรรมการด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเรื่องแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลประกอบการกำหนดกรอบระยะเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติให้คณะทำงานไปทำการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกรอบระยะเวลาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปอย่างรอบคอบ เพื่อดูความเป็นไปได้ในการขยายกำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาข้อมูล แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม คณะทำงานที่แต่งตั้งชุดนี้จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น