อ.ดอยหลวง แล้งหนัก! วอนภาครัฐช่วยเหลือ

วันที่ 18 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ประสบปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำสาธารณะแห้งขอด ข้าวนาปรังเริ่มยืนต้นตาย เตรียมยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ วอนเร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 4 โครงการหลัก แก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว

นายยัง พรหมเมือง สมาชิกสภาเกษตรกร เขต อ.ดอยหลวง เผยว่า บริเวณที่ลำห้วยแม่ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน ม.1, 2, 10, 8 ต.ปงน้อย และ ม.5, 6 ต.โชคชัย ก่อนจะไหลลงแม่น้ำบง ไหลผ่าน ต.หนองป่าก่อ และไหลลงแม่น้ำกก ที่บ้านสบกก อ.เชียงแสน ทุก ๆ ปีช่วงนี้จะยังมีน้ำเพียงพอใช้ในการเกษตร แต่ปีนี้น้ำแห้งมาตั้งแต่เดือน ม.ค. แล้ว ตอนนี้ก็เลยกระทบหนัก เพราะน้ำไม่พอใช้ในการเกษตร เกษตรกรบางรายที่ลงทุนปลูกนาปรัง ตอนนี้ข้าวในนาก็เริ่มจะยืนต้นตาย เงินที่ลงทุนในการทำเกษตรหลังการทำนาปีก็คงต้องสูญเปล่า โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งปีนี้ในหลายชุมชนไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอใช้ในการผลิตน้ำประปาแล้ว ชาวนาบางรายที่เข้าร่วมทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ปีนี้ระดับน้ำก็ลดอย่างน่าใจหาย หากสูบน้ำขึ้นมาใส่นาข้าว น้ำในสระก็น่าจะหมดภายใน 2 วัน ถือว่าได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า

เช่นเดียวกับนายวชิรพงศ์ ไชยลังกา อายุ 48 ปี กำนันตำบลโชคชัย เผยว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ อ.ดอยหลวง ประสบปัญหาฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดปัญหาน้ำแห้งน้ำแล้งตามมา แต่ในปีนี้คาดว่าปัญหาภัยแล้งจะหนักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทุกปีที่ผ่านมาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี เกษตรกรก็จะทำปลูกถั่วเหลือง หรือบางรายก็จะทำนาปรัง แต่ปีนี้ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ข้าวขาดน้ำ เกษตรกรก็คงต้องปล่อยให้ยืนต้นตาย เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ถ้าหากยังไม่มีฝนตกลงมาอีกก็คงจะส่งผลกระทบไปถึงแหล่งน้ำในการผลิตน้ำประปา ซึ่งตอนนี้หลายหมู่บ้านน้ำแห้งหมดแล้ว ในหมู่บ้าน ม.5 ของตนยังพอจะมีแหล่งน้ำกักเก็บไว้อยู่ แต่ทาง อบต.โชคชัย ก็เข้ามาเอาน้ำไปช่วยเหลือชาวบ้านพื้นที่อื่น ก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอใช้ไปได้ถึงเมื่อไหร่

นายวชิรพงศ์ เผยต่อว่า เมื่อช่วงวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางตัวแทนชาวบ้าน เกษตรกร ในพื้นที่ ต.โชคชัย และคำบลอื่นใน อ.ดอยหลวง ได้มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาภัยแล้ง โดยขอรับงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการผันน้ำกกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการก่อสร้างฝายน้ำกก และโครงการทำแก้มลิงหนองสามขา พร้อมอาคารประกอบ และประตูระบายน้ำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านแม่บงใต้ ม.5 มีพื้นที่สำหรับรองรับน้ำจำนวน 115 ไร่ ซึ่งได้นำเสนอโครงการไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติโครงการ และอีกโครงการหนึ่งก็คือการก่อสร้างฝายน้ำบง อยู่ห่างจากจุดที่จะสร้างแก้มลิงหนองสามขาประมาณ 50 ม. เพื่อจะผลักดันน้ำเข้าสู่แก้มลิงหนองสามขา ถ้าหากสามารถเดินหน้าโครงการทั้งหมดได้ ก็คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้วให้กับ อ.ดอยหลวง ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งเข้ามาสำรวจและเร่งสนับสนุนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นปัญหาความเดือดร้อนหลักของชาวบ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ เพราะในแต่ละปีมีการใช้เงินลงทุนในการประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ครัวเรือนหนึ่งไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท แต่กลับต้องมาเจอปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก แล้วจะให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ฝากไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย

ด้านนายสุวรรณ ติ๊บสุภา อายุ 63 ปี กล่าวว่า ประมาณช่วง 4-5 ปีมานี้ ทาง อ.ดอยหลวง ประสบปัญหาแล้งจัด เพราะแหล่งกักเก็บน้ำมีน้อย อยากให้ทางภาครัฐเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างจริงจังและเร่งด่วน ปีนี้ลงทุนทำการเกษตรไปแล้วแต่กลับเสียเปล่า ไม่เฉพาะแค่นาปรัง ไร่ถั่วเหลืองก็ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่มีน้ำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น