ตัวเลข ‘เมาแล้วขับ’ เชียงใหม่ลดลงฮวบ คาดตระหนักความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ร.ต.อ.หญิงชญานิศ ภาชีรัตน์ อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ มีการเปิดเผยสถิติการส่งฟ้องศาลแขวงเชียงใหม่ ในคดีขับรถในขณะมึนเมาสุรา (เมาแล้วขับ) ในระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน 2567 พุ่งไปเกือบ 600 ราย ล่าสุดตัวเลขในช่วง 14-15 เมษายน 2567 มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนการตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

ด้วยความห่วงใยจากอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่บุคลากรสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ยังคงร่วมกันปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ ซึ่งได้รายงานว่า ในช่วงวันที่ 12 และ 13 เมษายน ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานตำรวจได้จับผู้กระทำความผิด ส่งตัวผู้กระทำความผิดจากการขับรถขณะเมาสุราหรือของมึนเมา มาให้อัยการเพื่อฟ้อง รวมเกือบ 600 ราย โดยทุกรายให้การรับสารภาพ ได้ถูกส่งฟ้องไปยังศาลแขวงเชียงใหม่ แต่ในช่วงท้ายเทศกาลตัวเลขเมาแล้วขับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากการตระหนักของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ที่ ‘ ดื่ม- เมา-ไม่ขับ เคารพกฎหมาย จนทำใหัสถิติคดีเมาไม่ขับในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ส่งฟ้องในวันนี้ มีเพียง 130 กว่ารายเท่านั้น

ซึ่งเป็นรายงานจากเจ้าหน้าที่สะท้อนปรากฎการณ์ ที่ผิดจากการคาดการณ์ ด้วยตัวเลขวันที่ 14 และ 15 เมษายน 2567 จำนวน 2 คืน ในพื้นที่เชียงใหม่ พบหลายจุดยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ มีประชาชน หนาแน่น ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีการส่งตัวเพื่อฟ้องผู้กระทำความผิด ‘เมาแล้วขับ’ มากกว่า 300 ราย แต่ปรากฎว่า ตัวเลขจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รวบรวมสู่ชั้นอัยการ เพื่อฟ้องในวันที่ 16 เมษายน 2567 เพียง 130 กว่ารายเท่านั้น ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งต้องขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ‘ดื่ม- เมาไม่ขับ’เคารพกฎจราจร ขับขี่ปลอดภัย
คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

โดยสถิติการฟ้องคดีวาจาในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์คดี เมาแล้วขับ และอื่น ๆ ที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ส่งฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษ มีดังนี้

วันที่ 12 เมษายน จำนวน 208 ราย
วันที่ 14 เมษายน จำนวน 307 ราย
วันที่ 16 เมษายน จำนวน 134 ราย

ขณะที่อัตราโทษสำหรับบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 20 ปี เมาแล้วขับรถ ถ้ามีใบอนุญาตขับขี่ และตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินคดีจำคุก ปรับ ถูกพักใช้ใบอุนญาต และเพิกถอนใบขับขี่

ส่วนบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว กฏหมายกำหนดให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าถูกจับได้ จะมีอัตราโทษจำคุก ปรับ และถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เช่นกัน

ทั้งนี้บุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะถูกเพิ่มโทษอีก 1 ใน 3 ทั้งโทษจำคุกและถูกปรับเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งมีการทดลอง พบว่า การดื่มเครื่องดื่มสุราเพียง 3 ฝา หรือดื่มเบียร์ เพียง 1 กระป๋อง อาจมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด

ดื่ม- เมาไม่ขับ ปลอดภัยที่สุด
การปฎิเสธไม่เป่า = เมาแล้วขับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น