ผู้บริหาร สธ. แสดงความเสียใจ ในกรณีกระบะชนรถรีเฟอร์ รพ.พร้าว

ผู้บริหาร สธ. แสดงความเสียใจ และให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต / ผู้บาดเจ็บกรณีรถพยาบาลโรงพยาบาลพร้าวประสบอุบัติเหตุ พร้อมกำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้บาดเจ็บทุกรายให้ได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของคดี

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าจากกรณีรถพยาบาลโรงพยาบาลพร้าว ป้ายทะเบียน เชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุขณะส่งตัวผู้ป่วยห้องคลอด Dx. PROM ไปที่โรงพยาบาลสันทราย เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 เวลาประมาณ 17.24 น. ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย รวม 11 ราย ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานเหตุการณ์ ให้กับนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เพื่อนำเรียน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบ ซึ่งท่านได้แสดงความห่วงใยแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำชับให้ดูแลผู้ประสบเหตุและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมถึงมอบหมายให้เป็นตัวแทนมอบกระเช้าเพื่อให้กำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงลงพื้นที่อำเภอพร้าวเพื่อแสดงความเสียใจและให้กำลังใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย

นายแพทย์จตุชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บขณะนี้ ได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสันทราย และโรงพยาบาลพร้าว ผู้บาดเจ็บทุกรายอาการปลอดภัย อยู่ในการดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด ในส่วนของผู้เสียชีวิต เบื้องต้นจะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันอุบัติเหตุ ด้านสิทธิอื่นๆ อยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อให้ครอบคลุมทุกสิทธิที่ควรจะได้รับการดูแล นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ยังได้ส่งทีมพิเศษฉุกเฉินสุขภาพ(SHERT) จังหวัดเชียงใหม่ ทีมเยียวยาจิตใจ(MCATT)จังหวัดเชียงใหม่ , กองสาธารณสุขฉุกเฉิน , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ , โรงพยาบาลพร้าว , สาธารณสุขอำเภอพร้าว และชมรม อสม.เชียงใหม่ ร่วมประชุมสรุปเหตุการณ์ และวางแนวทางในการดูแลเยียวยาผู้ประสบเหตุ และญาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล โดยให้จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ใช้ความเร็วเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรม พนักงานขับรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รถพยาบาลติดตั้งอุปกรณ์ GPS ทุกคัน ติดตั้งกล้องวงจรปิด Closed Circuit Television (CCTV) บันทึกภาพ และมีประกันภัยรถพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ร่วมแสดงความคิดเห็น