ผางประทีปนับหมื่นดวงสว่างไสวทั่วเมืองเชียงใหม่งานยี่เป็งวันแรก

เมื่อคืนวันที่ 7 พ.ย. 2565 ที่บริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และรอบคูเมืองเชียงใหม่ หรือกำแพงเมืองโบราณ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรม “ต๋ามผางปะตี้ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง ปีที่ 11” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงงานประเพณียี่เป็งจังหวัดเชียงใหม่ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤศติกายน

โดยมีการจัดพิธีเทศน์อานิสงส์ผางปะตี้ด และจุดผางประทีปที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลนครเชียงใหม่ในการจัดหาจำนวน10,000 ดวง รวมกับที่เครือข่ายภาคประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนอีกนับหมื่นดวงบนลานหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และพร้อมกันรอบคูเมืองเชียงใหม่ สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่งให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งผู้ที่ร่วมกันจุดผางประทีปและผู้ที่ผ่านมาพบเห็น ซึ่งปีนี้นักท่องเที่ยวคึกคักทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทย รวมทั้งชาวเชียงใหม่เองที่ออกมาใช้ชีวิตปกติหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา ที่มีความเชื่อว่าการจุดผางประทีปเป็นการบูชาพระพุทธคุณและจัดขึ้นในคืนวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนที่จะถึงคืนวันยี่เป็ง 2 วัน เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาเมือง ซึ่งการจุดผางปะตี้ด หรือผางประทีป ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งนั้น ตามตำนานเล่าว่า แม่กาเผือกได้ออกไข่มา 5 ฟอง เมื่อไข่ฟักออกมาแม่กาก็เสียชีวิตไป ไข่ทั้ง 5 ฟองเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ องค์ที่ 4 คือ องค์ศรีอารยเมตไตรย และองค์ที่ 5 คือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การทำผางปะติ๊ดจึงทำไส้เทียนเป็นรูปตีนกา เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่กาขาวและบูชาพระพุทธคุณ บูชาแม่พระคงคา และสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา

ร่วมแสดงความคิดเห็น