พลิกฟื้น ศก.เชียงใหม่ ผ่านวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนทั่วโลก ตั้งใจจะมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้คนอยากจะมาเที่ยวเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษและอินเดีย แน่นอนว่านอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ จังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ ถือ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในเรื่องของทรัพยากร รวมถึงอาหารการกิน และวัฒนธรรมที่งดงาม มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์อีกด้วย ในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวมากที่สุด เมื่อมีการเปิดประเทศ จังหวัดเชียงใหม่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในด้านไหน อย่างไร

จากข้อมูลร้านอาหารทุกประเภท รวมทั้ง สตรีทฟู้ดและร้านกาแฟ เชียงใหม่มีร้านอาหาร 10,800 ร้าน รองลงมาจากกรุงเทพฯเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีร้านอาหารเยอะมาก เมื่อโควิด-19 ระบาด ร้านอาหารเหล่านี้ต้องพบกับสถานการณ์ที่ไม่เคยพบ คือ ต้อง เปิดๆ  ปิดๆ ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจร้านอาหารรวมทั้งตัวพนักงาน ลูกจ้าง นั้น ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อหาแนวทางแก้ไข และช่วยเหลือกันภายในกลุ่มผู้ประกอบกิจการ จนเกิดแนวคิดเรื่องการชูเรื่องอาหารเพื่อพลักดันการท่องเที่ยว เนื่องจากเชียงใหม่อยู่ในกลุ่มไม่กี่จังหวัดในประเทศไทย ที่มีวัฒนธรรมอาหารมาอย่างยาวนาน

ในอดีตไม่เคยมีการโปรโมทเรื่องอาหาร เพราะคนนำเที่ยว หรือนักท่องเที่ยวนั้นก็รู้อยู่แล้วว่า มาเชียงใหม่ต้องกินอาหารเหนือ ข้าวซอย กินอาหารเมือง รวมทั้งปัจจุบันภาครัฐมีการส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อชิม หรือทานอาหารท้องถิ่น

กลุ่มผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร จึงร่วมกับผู้ประกอบกิจการที่พัก ใช้อาหารในการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจจากกลุ่มคนที่นิยมทานอาหารทางวัฒนธรรม ควบคู่กับการท่องเที่ยวแล้วก็เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เอามารวมกันเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ในเชิงวัฒนธรรมอาหาร วัตถุดิบต่างๆ ในท้องถิ่นถูกนำขึ้นมาใช้ยกระดับและเพิ่มมูลค่านักท่องเที่ยว เริ่มเดินทางมาชิม มาช้อป แล้วอยากกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง

จากแนวคิดดังกล่าวจึงได้มีการทำโครงการภายใต้ชื่อ “คิดถึงเชียงใหม่” โครงการนี้ร้อยเรียงตั้งแต่ต้นทางอาหารไปจนถึง ปลายทางอาหาร เอาวัตถุดิบท้องถิ่น ประมาณ 20 รายการ จากกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น ที่ปลูก ที่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นผักพื้นเมือง ผักเชียงดา ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน ไก่ประดู่หางดำ ไข่ไก่อารมณ์ดี ที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร โดยการอบรมเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และสามารถส่งต่อในเรื่องของคุณภาพ และความปลอดภัยมาสู่ร้านอาหารได้

มีการเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาผนวกกับการปรุงอาหาร แล้วก็เชิญเชฟระดับประเทศมาเทรนนิ่งร่วมกัน เน้นการมีรูปแบบที่หลากหลาย นำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาปรับ เพิ่มมูลค่า ด้านองค์ความรู้เน้นการพัฒนาวัตถุดิบจากต้นน้ำ ด้วยความร่วมมือจากคณะเกษตรศาสตร์ ผ่านกระบวนการของคณะอุตสาหกรรมเกษตร และก็ศูนย์นวัตกรรมอาหารบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับภาคการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร พยายามพัฒนาให้เป็นแหล่งข้อมูล แหล่งแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านอาหารล้านนา ทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมล้านนา เฟสติวัล (Lanna Festival)  มีการเอาวัตถุดิบต่างๆ มาแลกเปลี่ยน ซื้อ ขาย เพื่อความยั่งยืน ได้มีการพัฒนาเป็นเครือข่ายชุมชน ท่องเที่ยวเชิงอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อคิดถึงอาหารเหนือ อาหารท้องถิ่น ก็จะมีแต่ ไส้อั่ว ข้าวซอย แต่ตอนนี้มันมีอะไรบางอย่าง ที่มาช่วยได้ก็คือนักวิทยาศาสตร์ งานวิจัยต่างๆ เข้ามาช่วยเชื่อมในการยกระดับมูลค่าของอาหารให้สูงขึ้น

นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบของการพัฒนาในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ จากอาหารการกินของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสไตล์เรียกง่าย ๆ ว่า “ล้านนา” เป็นสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่น่าสนใจ ถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับจังหวัด และยกระดับประเทศ เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นก็คือทำให้เกษตรกรมีรายได้ไปจนถึงกลางน้ำ นั่นก็คือเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากวัตถุดิบพื้นเมืองและสุดท้ายปลายน้ำนั้น ก็คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์นั้นก็คือประชาชนทุกคน

การนำเอาวัตถุดิบพื้นเมืองมาสร้างรายได้ ให้กับพี่น้องเกษตรกรกลุ่ม ผู้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ อำเภอหางดง อำเภอจอมทอง ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ นั้นมีเนื้อแน่นอร่อย เนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติอยู่ในสวนกินหญ้าตามธรรมชาติในชุมชน มีสมาชิกผู้เลี้ยงประมาณ 30 คน มีรายได้ประมาณ 40,000 บาท ต่อเดือน เป็นการสร้างอาชีพเสริม จนตลาดดีขึ้น พัฒนามาเป็นอาชีพหลัก

การยกเมนู ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ มานั้นเพราะว่าวัตถุดิบมีอยู่ในเชียงใหม่ กลุ่มเกษตรกรในเชียงใหม่และกลุ่มเกษตรกรในภาคเหนือ ต้องมีวัตถุดิบที่ดีและคุณภาพที่ดี การเป็นอยู่ที่ดี คุณภาพที่ดี กลับไปอยู่ที่คุณภาพของตัวโปรตีน อาหารออกมาดีผสมผสานกับวัฒนธรรมอาหารของคนเชียงใหม่

อาหาร คือ หัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเดินทาง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการเติบโตทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว รวมไปถึงเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของประเทศ การที่ ศูนย์นวัตกรรมและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั้นได้นำเอาวัตถุดิบพื้นเมืองมาสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ยกระดับสู่สากลถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการสร้าง ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ผ่านนวัตกรรมอาหารการกินและเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น