เชียงใหม่ ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้

เมืองเชียงใหม่ “ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต”

วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการออกแบบเมืองเชียงใหม่ โครงการ Chiang Mai Learning City จับมือเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดงาน Chiang Mai forwards to UNESCO Learning City Award นำเสนอร่างเอกสารข้อเสนอและการเตรียมเสนอขอรับพิจารณารางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก โครงการ Chiang Mai Learning City สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ นำเสนอรายละเอียด ‘ร่างเอกสารข้อเสนอเมืองเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO’ ร่างแรก (First Draft) และแนวทางการเตรียมความพร้อมในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการในปี 2566-2567 ภายใต้หลักคิดสำคัญ (Statement of Significance)

โดยมีนายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงเป้าหมายของการขอรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ของเชียงใหม่ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ หัวหน้าชุดโครงการ Chiang Mai Learning City นำเสนอหัวข้อและการพัฒนาเอกสารการยื่นขอรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ของเชียงใหม่ และแนะนำทีม Chiang Mai Learning City ปี 3

 นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เป้าหมายของการขอรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ของเชียงใหม่ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Leaming City) : เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต

โดยเมืองเชียงใหม่เป็น 1 ใน 4 ของประเทศไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งได้มีเจตนารมย์ในการขับเคลื่อนที่สร้างให้เกิด 1) ส่งเสริมการศึกษาที่ครอบคลุมในระบบการศึกษา 2) ฟื้นฟูการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน3) ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการทำงานและในสถานที่ทำงาน 4) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเรียนรู้ 5 พัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ( ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการขับเคลื่อนของเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการขับเคลื่อนทั้ง 6 องค์ประกอบหลักของเมืองแห่งการเรียนรู้ และประเด็นที่สำคัญในการขับเคลื่อนที่โดดเด่นของเชียงใหม่ คือ ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้

เมืองเชียงใหม่ “ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต” โดยรูปธรรมและคุณลักษณะของการเป็นเมืองเรียนรู้ของเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งนักวิชาการภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและประชาชนคนเชียงใหม่ ในฐานะเชียงใหม่เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO นั้น พบว่า “ต้นแบบเมืองการเรียนรู้ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับเมือง” โดยนำเสนอต้นแบบ (Model) การเรียนรู้ที่ “เชื่อมโยงระหว่าง รัฐ ชุมชนประชาชน” ผ่านการสาธิต “วัฒนธรรมชุมชน” ผ่านงานประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่เมือง ในรูปแบบ “Community-Cultural Based Demonstration Event (CCBD)”  ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยตรงระหว่างผู้มาเยือนและผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างนิเวศการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ที่ผู้เรียนและผู้ส่งต่อองค์ความรู้วัฒนธรรมโดยการสนับสนุนงบประมาณและพื้นที่อย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ระดับเมืองดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในกำลังที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่รอบนอก ก่อให้เกิดการยกระดับงานฝีมือท้องถิ่น ฟื้นฟู และส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา โดยมีประเพณี วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญแก่คนรุ่นใหม่ 

จากความพร้อมและต้นทุนของเมืองเชียงใหม่ ปี 2567 เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะยื่นเสนอขอรางวัล เมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO จึงต้องร่วมด้วยช่วยกันของคนทั้งเมืองในการแสดงพลังและร่วมขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัดของ UNESCO

 ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ หัวหน้าชุดโครงการ Chiang Mai Learning City ได้กล่าวนำเสนอในงานครั้งนี้ไว้ว่า “หลักคิดสำคัญ (Statement of Significance)  “ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต” เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณะวิจัย ชุมชน และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ในการประมวลและสังเคราะห์ผลงานการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผ่านมาย้อนหลัง 5 ปี โดยพิจารณาถึงความต่อเนื่องของนโยบาย และงบประมาณ การมีส่วนร่วมของชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงคุณลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันโดเด่นปรากฏชัดเจนในกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีของเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับการใช้เกณฑ์การประเมินเมืองแห่งการการเรียนรู้ของ UNESCO – จนนำมาถึงข้อสรุปหลักคิดสำคัญ และแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566-2567 เพื่อให้ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมเกิดเป็นประจักษ์พยานถึงความพร้อมของเมืองเชียงใหม่ ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และมีความพร้อมในการได้รับพิจารณาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO”

ในงานครั้งนี้คณะวิจัยได้ส่งมอบร่างเอกสารข้อเสนอเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO แก่นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนำเสนอข้อเสนอแนะ รวมถึงแนวทางการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ก่อนการยื่นเอกสารข้อเสนอเพื่อขอรับการพิจารณา UNESCO Learning City Award แก่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการพิจารณาและนำส่งเอกสารสู่คณะกรรมระดับนานาชาติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น