บวชลูกแก้วและส่างลองประเพณีไทยล้านนา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

4 เมษายน 2567 เข้าช่วงปิดภาคเรียนทางภาคเหนือจะนิยมส่งลูกหลานบวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนา ที่วัดอินทราราม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยคณะสงฆ์อำเภอเชียงดาว ได้ร่วมกันจัดแห่ลูกแก้ว (คนพื้นเมืองชาวเหนือ) , แห่สางลอง (คนไทยใหญ่หรือไตใหญ่) ตามแต่จะเรียกกัน จะแห่ไปตามถนนเพื่อให้พี่น้องชาวบ้านที่นับถือศาสนพุทธได้มาร่วมบุญในงานบวชและบรรพชาในวันนี้

การแห่สมัยก่อนจะใช้ คน ใช้ม้า ใช้ช้าง ในการให้ตัวลูกแก้วหรือส่างลองนั่ง สมัยนี้ก็ยังพอได้เห็น แต่ส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์นั่งแห่เพราะหาง่ายกว่า ชาวบ้านก็จะนำเอาดอกไม้ ข้าวตอก มาโปรยใส่ตัวของลูกแก้ว และส่างลอง ตามที่เข้าใจว่าจะได้บุญ ซึ่งการจัดบรรพชาสามเณรและอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ทางส่วนราชการ เอกชน ประชาชน คณะสงฆ์ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเชียงดาว จึงได้ร่วมจัดบรรพชาและอุปสมบทหมู่ขึ้น ในวันนี้ จำนวน 85 รูป และจะได้เข้าศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปฏิบัติตนให้อยู่ในพระธรรมวินัยเป็นเวลา 7 วัน 15 วัน 30 วัน และบางรูปก็จะบวชไม่สึกแล้วแต่เจตนาของพระแต่ละรูป

ในวัฒนธรรมประเพณีล้านนาทางภาคเหนือตอนบนนี้ยังอนุรักษ์ประเพณีนิยมของคนล้านนาเอาไว้อยู่และยังสืบสานส่งต่อลูก ๆ หลาน ๆ สืบต่อไปได้อีกยาวนาน เด็กชายแทบทุกคนจะต้องบวชเรียนก่อน เพื่อตอบแทนคุณมารดาและบิดาของตน จากนั้นถึงจะแต่งงานมีเมียมีลูกได้ ซึ่งยังนิยมถือสืบต่อกันมาในทุกวันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น