ชาวบ้านแม่พุงเดือดร้อน! เจอพายุฤดูร้อนถล่ม บ้านเรือน/นาข้าวเสียหาย

ชาวบ้านแม่พุงเดือดร้อน! เจอพายุฤดูร้อนถล่ม บ้านเรือน/นาข้าวเสียหาย ยังรอความช่วยเหลือ

วันที่ 19 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวติดตามกรณีชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากลมพายุเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีบ้านเรือน เสาไฟฟ้า ตลอดจนพืชผลการเกษตร ได้รับความเสียหาย และได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจาก ทต.ป่าแดด นำกระเบื้องมาแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนไปบ้างบางส่วน แต่ชาวบ้านก็ยังรอคอยความช่วยเหลือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ เพราะขาดแคลนทั้งงบประมาณ และแรงงาน รวมถึงพืชผลการเกษตรที่เสียหาย ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือ

นายสมมิตร หมื่นเป็ง อายุ 57 ปี ผญบ.แม่พุง ม.2 กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.ป่าแดด ได้รับความเสียหายหนักจากลมพายุเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 3 หมู่บ้าน คือบ้านแม่พุง ม.2 บ้านเรือนเสียหาย 100 หลังคาเรือน บ้านแม่พุงเหนือ ม.5 เสียหาย 140 หลังคา และบ้านสันโค้งพัฒนา ม.12 เสียหาย 80 หลังคา ซึ่งทั้ง 3 หมู่บ้านเคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน แต่แยกหมู่บ้านในภายหลัง โดยหมู่บ้านที่เสียหายหนักสุดก็คือบ้านแม่พุง ม.2 ที่ตนเป็นผู้นำอยู่ เพราะอยู่ใกล้แนวปะทะของลมพายุ

ผู้ใหญ่บ้านแม่พุง ได้พาผู้สื่อข่าวไปสำรวจความเสียหาย พบว่ามีอาคารที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กมุงด้วยเมทัลชีท ใช้สำหรับเก็บท่อนไม้โบราณกว่า 10 ท่อน กำลังมีการก่อสร้างศาล ยังไม่ได้มีการฉลอง โดนพายุล้มลงมาทั้งหลัง ศาลาเอนกประสงค์ที่ใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้ และเป็นที่ประชุมประชุมของหมู่บ้าน โดนลมพายุพัดหายไปหลายร้อยแผ่น แถมยังมีบ้านที่โดนพายุพัดกระเบื้อง หรือหลังคาที่ต่อเติมออกมาเป็นโรงรถ โดนพายุพัดถล่มพังลงมาหลายหลังคา บ้านบางหลังก็โดนลมพัดเพดานออกไปทั้งแถบ และที่โรงงานอบลำไยซึ่งอยู่ก่อนถึงหมู่บ้านโดนลมพายุพัดโครงสร้างเหล็กของโรงงานล้มพังเสียหาย 2 หลัง และเมทัลชีทถูกลมพัดปลิวข้ามถนนปลิวไปตกตามทุ่งนา บางส่วนยังปลิวไปโดนบ้านหลังที่อยู่ตรงข้ามกันพังเสียหาย เสาไฟฟ้าแรงสูงก็โดนพัดล้มจำนวน 12 ต้น

ที่สำคัญคือที่บริเวณน้ำแม่พุงที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ที่ตนได้พัฒนาเพื่อเตรียมเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรับเทศกาลสงกรานต์ มีการสร้างสะพานไม้ข้ามน้ำ ทำที่นั่งสำหรับกินอาหาร ชมวิวริมน้ำ ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวในวันที่ 14-20 เม.ย. ก็โดนพายุพัดพังเสียหาย ต้นไม้ล้มพัดขวางทางน้ำ ทำน้ำที่เคยใสเริ่มเน่าเสีย จนตนต้องเกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยตัดต้นไม้ และนำเครื่องปั่นออกซิเจนมาบำบัดน้ำไม่ให้น้ำเน่าเสีย จนทำให้ปลาตะเพียนหางแดงที่อยู่แถวนี้ว่ายหนีไปอยู่ที่อื่น

“หลังเกิดเหตุทาง ทต.ป่าแดดได้เข้ามาเยี่ยมเพื่อสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำกระเบื้องมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 หมู่บ้าน รวมประมาณ 18,000 แผ่น แต่เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นเท่านั้น เพราะได้แค่กระเบื้อง ส่วนที่เป็นโครงสร้าง ทั้งเหล็ก ปูน ไม้ ชาวบ้านก็ต้องหาเงินมาซ่อมแซมเองอยู่ดี และกระเบื้องที่นำมาแจกก็เป็นแบบบาง บางบ้านก็ต้องไปซื้อมาใหม่และเอาแผ่นที่ได้รับแจกเอาไปมุงเสริม แต่ก็แตกหักในภายหลังอยู่ดี บางบ้านที่เป็นเมทัลชีทก็ไม่ได้รับการเยียวยา เพราะติดปัญหาข้อระเบียบของทางราชการ ในส่วนของการซ่อมแซม คนที่พอมีเงินก็ไปจ้างช่างมาซ่อมได้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเงิน และต่างคนก็ได้รับความเสียหาย ทำให้การซ่อมแซมก็ต้องช่วยกันซ่อมทีละหลัง ต้องรอคิว และที่หนักใจที่สุดตอนนี้ ก็คือเกษตรกรที่ทำนาปรัง เพราะนาข้าวเจอพายุหมุนจนข้าวหลุดร่วง เหลือแค่เม็ดลีบ เก็บเกี่ยวได้เพียงส่วนน้อย และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลงทะเบียนทำนาปรังไว้ เมื่อได้รับความเสียหายเช่นนี้ ก็คงไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ ซึ่งการทำนาแต่ละครั้งมีต้นทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน คิดแล้วประมาณ 2-3 พันบาท บางคนมีนา 10 ไร่ ต้นทุนก็ตกปีละ 2-3 หมื่นบาท ตอนนี้เท่ากับว่าสูญหายไปกับพายุทั้งหมด บางบ้านแทบหมดตัว ก็อยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลความช่วยเหลือปัญหาของชาวบ้านบ้าง เพราะหลังจากทางเทศบาลในพื้นที่ที่เข้ามาแจกจ่ายกระเบื้องแล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูมาแลอีกเลย” ผู้ใหญ่บ้านแม่พุง กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น