พะเยา คัดสรรผลิตภัณฑ์โอท็อปปี 65

จังหวัดพะเยา คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2565 (OTOP Product Champion:OPC)

เวลา 13.30 น. วันที่ 20 พ.ค. 65 ที่ห้องพุดตาน โรงแรมพะเยาเกทเวย์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอด 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2565 (OTOP Product Champion:OPC) โดยมีนายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคํา ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดการคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยปี 2565 (OTOP Product Champion:OPC) เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการจัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เป็นการประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion:OPC) จังหวัดพะเยา ปี 2565 มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ส่งผลิตภัณฑ์เข้ารับการคัดสรร จำนวน 121 ราย 241 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ประเภทอาหาร จำนวน 82 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายจำนวน 76 ผลิตภัณฑ์ ประเภทของใช้ ของที่ระลึก จำนวน 54 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการได้พิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองผลิตภัณฑ์ที่สมัครเข้ารับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2565 ด้านผลิตภัณฑ์และความเข้มแข็งของชุมชน /ด้านการตลาดและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ รายงานให้กรมการพัฒนาชุมชน ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้กล่าวให้กำลังใจ ผู้เข้าร่วมการคัดสรร ในครั้งนี้ ว่า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นแนวคิดที่เน้นกระบวนการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ ในแต่ละหมู่บ้าน ชุมชนหรือตำบล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละชุมชนได้นำเอาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่มีจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น


โดยยึดหลักพึ่งตนเองของชุมชน และรัฐพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ การบริหารจัดการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ เป็นกระบวนการทางความคิดรวมถึงการบริการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีเอกลักษณ์มีจุดเด่น จุดขาย ดังนั้น กรมการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการส่งเสริมการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ได้ยึดแนวทางการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ของแต่ละชุมชน ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาคุณภาพ และได้มาตรฐานจนสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดพะเยา ก็ได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP และการจัดระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์(1-5 ดาว) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม

ร่วมแสดงความคิดเห็น