เชียงใหม่ ร่วม AIS-ภาคีฯ เสริมภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล

 จังหวัดเชียงใหม่ ร่วม AIS และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์”

จังหวัดเชียงใหม่ ร่วม AIS และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ผ่านหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล

วันนี้ (28 มิ.ย.66) ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์  AIS  เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ โดยมีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางระบบออนไลน์

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งแนะนำเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียล โดยกล่าวว่า การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้ ทำให้ระบบการศึกษาต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามโลกออนไลน์ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นสมรรถนะหลักในการศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ใช้สื่อดิจิทัลให้ในการหาความรู้ เปิดโลกทัศน์ และเป็นฐานในการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกโซเชียล ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมจะส่งต่อและขยายผลโครงการนี้ ไปยังบุคลากรทางการศึกษา ครู และนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ให้ได้มากที่สุด ผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาคการศึกษา อาทิ ศธจ.เชียงใหม่ , สพม.เชียงใหม่ และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ เพื่อลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์  AIS  กล่าวว่า “นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารอัจฉริยะให้มีความพร้อมรองรับการใช้งานของลูกค้าและคนไทยแล้ว ภารกิจของ AIS ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ร่วมกันออกแบบเนื้อหาให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย เพื่อเป็นสื่อกลางปลูกฝังและเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ผ่าน 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะ คือ

1. Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกอออนไลน์ 3. Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าถึงคนไทยไปแล้วกว่า 224,886 คน และมีโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. นำไปเป็นบทเรียนให้แก่นักเรียนแล้วกว่า 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศไทย”

ขณะเดียวกัน นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคเหนือ AIS กล่าวเสริมว่า“วันนี้เรายังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้น โดยครั้งนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อร่วมกันขยายผลการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนและเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทุกพื้นที่ ผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงานภาคการศึกษา ที่มีเครือข่ายการทำงานครอบคลุมในระดับตำบล อำเภอ

โดยนอกเหนือจากนี้ เรายังได้ขยายความร่วมมือเสริมทักษะพลเมืองดิจิทัล ไปยังกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านกระบวนวิชาของคณะสื่อสารมวลชน , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานร่วมกันจะช่วยทำให้ลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล  ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน” สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลของทุกท่านได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น