ช่างฟ้อน 727 คนร่วมฟ้อนรำ “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง”

ช่างฟ้อน 727 คนร่วมฟ้อนรำ “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” บูชาพระพุทธคุณ แม่พระคงคา และสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา

เมื่อช่วงค่ำวันนี้ (25 พ.ย.66) ช่างฟ้อนจากทั่วจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 727 คน (เท่าอายุของการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่) โดยมีช่างฟ้อนอายุน้อยที่สุดเพียง 4 ขวบ และอายุมากที่สุด 80 ปี เข้าร่วมฟ้อนผางปะตี๊ด หรือ ผางประทีป เริ่มตั้งแต่สี่แยกวัดพันอ้น ไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง เชียงใหม่ ในการกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธคุณ บูชาแม่พระคงคา และสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการเข้าสู่ช่วงเทศกาลยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ซึ่งการจัดงานเทศกาลลอยกระทงหรือยี่เป็งเมืองเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน นี้

โดยมี นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในการจุดธุปเทียนบูชาบูรพกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ด้านหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนที่ พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง จะทำพิธีทางสงฆ์ พร้อมสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมงาน โดยภายในงานมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจ ก่อนการฟ้อนบูชาหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ช่างฟ้อนทั้งหมดได้นำผางประทีปไปวางไว้บนแท่นที่เตรียมไว้บริเวณบนลาน จนเกิดแสงเทียนส่องสวยงามไปทั่วบริเวณ

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งบริเวณนี้และจุดผางปะตี๊ดตามแจ่งเมือง ทั้ง 4 แจ่ง (4 มุมเมืองเก่า) เพื่อบูชาแด่บูรพกษัตริย์ เทวดาอาลักษณ์ที่ปกปักรักษาเมือง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวเชียงใหม่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา

หมายเหตุ : ผางปะตี๊ด เป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า “ผาง” คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และไส้ของเทียนที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า “ปะตี๊ด” คือ แสงสว่าง

ร่วมแสดงความคิดเห็น