เช็กด่วน! คนกลุ่มไหนไม่ควรใช้สารสกัดกัญชา

คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพ่ือการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผย ข้อบ่งใช้และข้อห้ามในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ระบุ

ปัจจุบันประชาชนและผู้ป่วยจำนวนมากมีความสนใจและมีความประสงค์จะใช้สารสกัดกัญชาในการบำบัดรักษา บรรเทาอาการของโรคหรือฟื้นฟูสุขภาพ แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมืออาชีพในการพิจารณาว่าสารสกัดกัญชาเป็นการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายหรือไม่ โดยจะต้องศึกษาข้อมูลด้านวิชาการที่เป็นปัจจุบัน ก่อนที่จะเลือกสั่งใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วย และจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองด้านคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น ทั้งนี้ในกรณีที่ยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจไม่สามารถรับการรักษาโดยใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ดังกล่าวได้

Blog-07_1.png

ข้อบ่งใช้ของกัญชาในทางการแพทย์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Document) ที่มีคุณภาพสนับสนุนยืนยันประสิทธิผลของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาได้อย่างชัดเจน

  • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (Chemotherapy-Induced Nausea and Vomiting)
  • โรคลมชักที่รักษายาก (Refractory Epilepsy) ได้แก่ Dravet syndrome, Lennox-Gastaut syndrome โรคลมชักที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ด้วยยา 2 ชนิดขึ้นไป
  • ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • ภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล​ (Intractable Central​ Neuropathic Pain)​
  • ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักน้อย (Cachexia)
  • การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (End of life)
Blog-07_3.png

ข้อบ่งใช้ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนอยู่จํากัด แต่มีรายงานการวิจัยหรือหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่าการใช้กัญชาอาจจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ
กลุ่มโรคทางประสาทวิทยา ได้แก่

  1. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานอย่างน้อย 1 ปี หรือผู้ป่วย ที่ทุกข์ทรมานจากอาการปวดหรือปวดเรื้อรังจากภาวะแข็งเกร็งที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด
  2. ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่ได้รับความทุกข์ยากลำบากในการ ประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม จากอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งมีการดำเนินของโรคเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ การนอนผิดปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินอาการ และวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะสมองเสื่อม (Dementia) โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาประสาทวิทยา
    กลุ่มอาการที่สำคัญ
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง
    • ผู้ป่วยมะเร็งเพื่อใช้ในการบรรเทาอาการปวด
    • กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร

หากผู้ป่วยมีโรคและภาวะโรคที่ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น การพิจารณาสั่งจ่าย ผลิตภัณฑ์กัญชาควรดำเนินการภายใต้โครงการศึกษาวิจัยทางคลินิก

ทั้งนี้การจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้แก่ผู้ป่วยในแต่ละครั้งต้องไม่เกินปริมาณที่ใช้สำหรับ 30 วัน

อนึ่ง ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ได้แก่

  • กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด/โรคตับ/โรคไตที่รุนแรง
  • รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • โรคจิตเภท/โรคจิตจากสารเสพติด/โรคซึมเศร้า/โรคอารมณ์สองขั้ว
  • มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง

สำหรับผู้สนใจเข้ารับบริการที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดที่สถานพยาบาลนั้นๆ ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น