(มีคลิป) ผู้เสียหาย เดินหน้ายื่นหนังสือฯ กมธ.การสื่อสารฯ

ผู้เสียหายจากแก๊งค์คอลล์เซ็นเตอร์และลิ้งค์ดูดเงิน เดินหน้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือกับ กมธ.การสื่อสารฯ และเรียกร้องธนาคารร่วมรับผิดชอบ

เวลา 11.55 น. วันที่ 25 ม.ค. 66 ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับยื่นหนังสือจาก น.ส.วาสนา สวัสดิ์มูล ตัวแทนผู้เสียหายกรณีโดนหลอกให้โอนเงิน/กดลิ้งค์ดูดเงิน และนายภูวกร ศรีเนียน รองประธานมูลนิธิวินวิน เรื่องขอให้คณะ กมธ. ดำเนินการตรวจสอบ กรณีประชาชนผู้เสียหายกรณีตกเป็นเหยื่อถูกมิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์ที่เป็นการหลอกลวงในรูปแบบ SMS ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

สืบเนื่องจากมีประชาชนผู้เสียหายจำนวนมาก ร้องเรียนมายังมูลนิธิวินวิน ขอให้ช่วยเหลือกรณีตกเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวงให้โอนเงิน โดยมีหลากหลายรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง อาทิ การหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อเป็นค่าประกันวงเงินกู้ยืม การหลอกลวงให้สมัครงานทางออนไลน์ การหลอกลวงรับออเดอร์สินค้าในการสร้างรายได้เสริม การหลอกให้โอนเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทุกรูปแบบที่กล่าวมามิจฉาชีพจะกระทำการในลักษณะเดียวกันคือ ให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น (บัญชีม้า)

ซึ่งถูกมิจฉาชีพนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับโอนเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด และวิธีการได้มาซึ่งบัญชีม้าจะกระทำการจากการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำมาใช้ในการเปิดบัญชี จ้างบุคคลอื่นเปิดบัญชี รวมถึงการรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ซึ่งมีการประกาศรับซื้อบัญชีอย่างเปิดเผย โดยบัญชีม้าเหล่านี้จะถูกรวบรวมและใช้ข้อมูลบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลข OTP นำมาผูกกับ Mobile Banking เพื่อใช้ธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที ซึ่งมีประชาชนผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้โอนเงินเป็นจำนวนมาก และการหลอกลวงของมิจฉาชีพกำลังแพร่ระบาดอย่างมากในสังคมไทยในปัจจุบัน

โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การพิจารณาเรื่องประชาชนถูกหลอกลวงออนไลน์นี้ คณะ กมธ. ได้รับการร้องเรียนมาหลายกรณีที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้า จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

หลังจากการยื่นเอกสารให้กับประธาน กมธ.การสื่อสารฯแล้ว ทางกลุ่มผู้เสียหายก็ได้รับการนัดหมายให้ไปให้ข้อมูลกับ กมธ. ประมาณช่วงสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่ได้ระบุวันแน่นอน อย่างไรก็ตามทางผู้เสียหายก็ยังไม่คลายกังวล เพราะจากการพูดคุยกับ กมธ.การสื่อสารฯ ในเบื้องต้น ไม่มีการกล่าวถึงความหละหลวมในการเข้าถึงแอพธนาคารในมือถือ หรือ Mobile Banking ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่มีการป้องแค่การตรวจสอบเบอร์มือถือที่เชื่อมต่อกับแอพธนาคาร และการใส่รหัสเท่านั้น ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงแอพธนาคารได้ง่าย ถ้าสามารถเข้ามาควบคุมมือถือแทนเจ้าของได้ และแอบดูดเงินไปจนเกลี้ยงบัญชี โดยปัจจุบันทางกลุ่มผู้เสียหายซึ่งรวมตัวกันได้ประมาณ 60-70 คน มียอดความเสียหายรวมประมาณ 30 ล้านบาท ได้เรียกร้องให้แต่ละธนาคารเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยของแอพมือถือ และกรณีถูกมิจฉาชีพดูดเงินออกจากแอพธนาคาร ธนาคารเจ้าของบัญชีควรมีส่วนในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบว่าเป็นความผิดของเจ้าของมือถือเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เสียหายได้ไว้วางใจนำทรัพย์สินซึ่งก็คือเงินไปฝากไว้ให้ธนาคารดูแล เมื่อมีความเสียหายจากการที่ระบบความปลอดภัยในแอพไม่ดีพอ ทางธนาคารก็ต้องร่วมรับผิดชอบตามสัญญาฝากทรัพย์ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น